ก.แรงงาน-ม.ราชภัฏสวนสุนันทา สร้างคนรุ่นใหม่สู่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จับมือม.ราชภัฏสวนสุนันทา เดินหน้าพัฒนาคนรุ่นใหม่ ใช้การฝึกอบรมและทดสอบการันตีฝีมือ ป้อนอุตฯ โลจิสติกส์
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และรองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกานต์ ศรีวิบูลย์ อธิบการดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนาฝีมือแรงงาน ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา วิทยาเขตนครปฐม นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวภายหลังการลงนามความร่วมมือดังกล่าวว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน มุ่งยกระดับฝีมือทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพโดยใช้แนวทางสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา โดยเน้นสร้างทักษะฝีมือให้คนรุ่นใหม่ส่งเสริมการจ้างงานให้แก่ผู้ไม่เคยเข้าสู่ตลาดแรงงานให้มีงานทำ เช่น อุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ ที่มีความต้องการคนรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก
นายประทีป กล่าวต่อว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พัฒนาหลักสูตร จัดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่นักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เบื้องต้นมีแผนการดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่นักศึกษา ในสาขาผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง จำนวน 70 คน สาขาผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า จำนวน 75 คน สาขานักบริหารการขนส่งสินค้าทางถนน จำนวน 63 คน รวมทั้งสิ้น 208 คน และนำมาตรฐานฝีมือแห่งชาติบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาในหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ของมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับทักษะฝีมือสู่มาตรฐานวิชาชีพ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี ชลบุรี และระนอง ซึ่งให้บริการทดสอบแก่นักศึกษา กำลังแรงงาน และประชาชนทั่วไป ใน 4 สาขา ได้แก่ (1) สาขาผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง ระดับ 1-2 (2) สาขาผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า ระดับ 1-2 (3) สาขานักบริหารการขนส่งสินค้าทางถนน ระดับ 1-2 และ (4) สาขาผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 ในช่วงระหว่างปี 2558-2563 ที่ผ่านมาทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันจัดการเรียนการสอนและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่กำลังแรงงานและนักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน จำนวน 4 สาขาข้างต้น มีผู้ผ่านการทดสอบ จำนวน 807 คน
"จากการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เห็นผล พร้อมกับยกระดับศักยภาพและสร้างโอกาสให้แก่นักศึกษาและกำลังแรงงานได้เข้าสู่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ" อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว