สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนประชาชนพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ระวังป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยง ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เน้นย้ำดูแลสุขอนามัยป้องกันการเจ็บป่วย ปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม หมั่นล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงผู้ที่มีอาการป่วยและพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่น และหยุดเรียนหยุดงานจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา กล่าวถึง สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2565 ว่าได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) จำนวน 3,130 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต พบผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยพบเพศหญิง 1,668 ราย เพศชาย 1462 ราย อัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิง เท่ากับ 1:1.14 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 0-4 ปี รองลงมาคือ เด็กวัยเรียนอายุ 5-9 ปี และ 10-14 ปี โดยสัดส่วนอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือนักเรียน ร้อยละ 34.63 รองลงมาคือ อาชีพเด็กในปกครอง ร้อยละ 34.28 อาชีพรับจ้าง ร้อยละ 14.7 โดยพบผู้ป่วยจังหวัดนราธิวาส จำนวน 1,210 ราย, สงขลา 646 ราย, ยะลา 396 ราย, พัทลุง 395 ราย, ปัตตานี 196 ราย, ตรัง 180 ราย และสตูล 107 ราย และพบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนสิงหาคม จำนวน 1,326 ราย รองลงมาเดือน กรกฎาคม จำนวน 1,279 ราย และเดือนมิถุนายน 314 ราย
นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวต่อว่า สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา รณรงค์ ให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี) 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6.โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ 7.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ซึ่งให้บริการตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึง วันที่ 30 กันยายน 2565 โดยสามารถขอรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทุกสิทธิการรักษาพยาบาล เพื่อลดอัตราเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก เพราะโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง (น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ) ของผู้ป่วย ผ่านการไอหรือจามรดกัน โดยหลังจากได้รับเชื้อจะมีไข้สูง อาการคล้ายไข้หวัด แต่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อมากและปวดศีรษะ อ่อนเพลีย แต่สามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน กลุ่มเสี่ยงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดบวม หายใจลำบาก และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ขอให้ยึดหลัก "ปิด ล้างเลี่ยง หยุด" ปิด คือปิดปากปิดจมูก เมื่อไอจาม ต้องใช้หน้ากากอนามัยหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง ล้าง คือล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสสิ่งของ กลอนประตู ราวบันได ราวบนรถโดยสาร เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย หยุด คือเมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงานแม้จะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หอบหืด ผู้ที่มีโรคอ้วน เป็นต้น หากมีอาการป่วยหรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์ทันทีหรือ สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422