GPSC เปิดเวทีประชันเยาวชนนักประดิษฐ์นวัตกรรม YSI 2022 454 ทีมลงสนามแข่งเหลือ 30 ทีมเข้าแคมป์เจียระไนผลงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 12, 2022 13:54 —ThaiPR.net

GPSC เปิดเวทีประชันเยาวชนนักประดิษฐ์นวัตกรรม YSI 2022  454 ทีมลงสนามแข่งเหลือ 30 ทีมเข้าแคมป์เจียระไนผลงาน

GPSC เปิดสนามประลองนักประดิษฐ์เยาวชนรุ่นใหม่ YSI 2022 คัดเหลือ 30 ทีม จากโรงเรียนทั่วประเทศ ร่วมส่งผลงานประกวด 454 ทีม เตรียมเปิดแคมป์เฟ้นหาผู้ชนะ เข้าสู่รอบชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ช่วงต้นปี 2566 พร้อมผลักดันผลงานเด่นเข้าแข่งเวทีนานาชาติ สร้างชื่อนักพัฒนานวัตกรรมด้านการใช้พลังงานและทรัพยากร สู่เป้าหมาย Net Zero

นายณรงค์ชัย วิสูตรชัย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสรัฐกิจสัมพันธ์และกิจการสาธารณะ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรมค่าย GPSC YSI Camp ในโครงการ GPSC Young Social Innovator 2022 ปีที่ 5 ผ่านระบบออนไลน์แพลตฟอร์มเมตาเวิร์สบนโลกเสมือนจริง ภายใต้แนวคิด "พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Energy, Natural Resource and Environment)" ที่ได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาและเยาวชนเป็นจำนวนมาก ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการฯ จำนวน 454 ทีมจากทั่วประเทศ และมีผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกรอบแรกจำนวน 30 ทีม ใน 3 ประเภทของผลงานประกอบด้วย ผลงานสร้างสรรค์ด้านผลิตภัณฑ์ (Product) สิ่งประดิษฐ์ (Invention) และ กระบวนการ & วิธีการ (Process & Service) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับเยาวชนอายุ 15-20 ปี สร้างสรรค์ชิ้นงานที่สามารถนำไปพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาให้กับสังคมได้อย่างแท้จริง

สำหรับผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก จำนวน 30 ทีม ใน 6 ภูมิภาค ประกอบไปด้วย ภาคกลาง จำนวน 6 ทีม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และสระบุรี ภาคตะวันตก จำนวน 2 ทีม ได้แก่ เพชรบุรี ภาคตะวันออก จำนวน 2 ทีม ได้แก่ ฉะเชิงเทรา และระยอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ทีม ได้แก่ ขอนแก่น นครพนม มุกดาหาร เลย และอำนาจเจริญ ภาคใต้ จำนวน 6 ทีม ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และสตูล และภาคเหนือ จำนวน 9 ทีม ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ และพิษณุโลก โดยมีการแบ่งตามประเภทผลงาน ได้แก่ ประเภทผลิตภัณฑ์ 10 ทีม ประเภทสิ่งประดิษฐ์ 10 ทีม และประเภทกระบวนการ & วิธีการ 10 ทีม ซึ่งทั้ง 30 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องสร้างสรรค์ผลงานตามเกณฑ์เพื่อเสนอเข้าชิงรางวัลในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมกราคม 2566

โดยทีมที่ชนะเลิศการประกวดในปีนี้ จะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมประกาศเกียรติคุณ โดย GPSC มอบเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท และเงินพัฒนาผลงาน 10,000 บาท จำนวน 3 รางวัล ใน 3 ประเภทการแข่งขัน ส่วนทีมที่เหลือจะได้รับเหรียญรางวัลทอง เงิน และทองแดงตามลำดับคะแนน เกียรติบัตร พร้อมเงินพัฒนาผลงาน 10,000 บาท นอกจากนี้ ทีมที่ชนะเลิศการประกวด ยังได้รับโอกาสส่งผลงานเข้าแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ และโอกาสในการพัฒนาผลงาน เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนต่อไป

ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการที่ผ่านมา สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วยการคว้ารางวัลระดับนานาชาติมาแล้วจำนวน 22 รางวัล จากเวทีต่างๆ จากหลายหลายประเทศ อาทิ เวที Seoul International Invention Fair เวที World Invention Innovation Contest และเวที International British Innovation, Invention, Technology Exhibition หรือ IBIX อีกทั้งหลายผลงานมีการพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจ สร้างรายได้ให้กับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดรับกับแนวทางของบริษัทฯ ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม ตามหลัก ESG (Environmental, Social, Governance) ที่ GPSC ยึดมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจ มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2060


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ