กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 ประเภทพัฒนาการบริการ จากการดำเนินงานของ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์สลายตัวทางชีวภาพตามมาตรฐานสากล (Biodegradation Testing Laboratory : BioD) หน่วยงานในสังกัด ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ (MPAD) วว. จากการพิจารณาของ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้รับเกียรติจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัล ให้แก่ ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. โอกาสนี้ ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม ดร.ดวงพร อุนพานิช ผู้อำนวยการ MPAD ดร.อัญชนา พัฒนสุพงษ์ ผู้อำนวยการ BioD พร้อมผู้บริหาร นักวิจัย ร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดีในโอกาสนี้ ในวันที่ 12 กันยายน 2565 ผ่านระบบ Video Conference : Zoom Meeting
ทั้งนี้ รางวัลเลิศรัฐ เป็นรางวัลที่ ก.พ.ร. มอบให้แก่หน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารการจัดการภาครัฐ และเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีมติมอบรางวัลให้หน่วยงานต่างๆ ในปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 238 รางวัล
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า BioD หรือ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์สลายตัวทางชีวภาพตามมาตรฐานสากล เป็นห้องปฏิบัติการแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก.17025-2561 ในขอบข่ายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.17088-2562 ข้อกำหนดพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ ผลการทดสอบได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ดำเนินงานได้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามกฎระเบียบของประเทศคู่ค้าของไทย รองรับความต้องการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคบริการทั้งภายในและต่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนงานวิจัยของภาครัฐและภาคเอกชน โดยเป็นส่วนเชื่อมโยงผลงานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการสู่การทดลองผลิต และการผลิตระดับอุตสาหกรรมให้สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ บุคลากร เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อรองรับต่อความต้องการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ รวมถึงงานวิจัยและพัฒนาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้บริการครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต้องทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพตามมาตรฐานสากล อาทิ บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคในครัวเรือนและอาคาร ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ว่าได้มาตรฐาน โดยเป็นส่วนเชื่อมโยงผลงานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการสู่การทดลองผลิต และการผลิตระดับอุตสาหกรรมให้สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรมในการลดต้นทุนและเวลาสำหรับผู้ส่งออกที่ต้องส่งสินค้าไปตรวจสอบต่างประเทศ ส่งเสริมการเข้าถึงงานบริการทดสอบสินค้าและบริการมากขึ้น ยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคและคู่ค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการของไทยในด้านการค้าระหว่างประเทศ ให้ผ่านกฎระเบียบในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์
"...BioD ดำเนินงานโดยคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่เป็นมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างเชื่อมโยงกันสอดคล้องกับ SDGs เป้าหมายที่ 9 คือ โครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม โดย BioD ให้บริการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพที่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการในระดับวิสาหกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงการได้มาซึ่งข้อมูลสนับสนุนที่สำคัญสำหรับงานวิจัยและพัฒนาในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ช่วยส่งเสริมการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจสีเขียวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง ..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.อัญชนา พัฒนสุพงษ์ ผู้อำนวยการ BioD กล่าวว่า วว. โดย BioD ได้รับความเชื่อถือจากผู้ขอรับบริการทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 150 รายทั่วประเทศ และคาดว่าในอนาคตสามารถรองรับความต้องการผู้ใช้บริการได้มากกว่า 50 รายต่อปี ทั้งนี้ สถาบันพลาสติกวิเคราะห์แนวโน้มของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยปี 2564 ว่า เม็ดพลาสติกชีวภาพมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 สร้างรายได้กว่า 2,700 ล้านบาท โดยเพิ่มจากปีก่อนที่ส่งออกมูลค่า 2,331 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก และมีกำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นรัฐบาลได้เล็งเห็นศักยภาพที่จะผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในภูมิภาค ปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบกับผู้ผลิตของไทย คือ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการทดสอบที่ต้องได้รับเอกสารยืนยันคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากห้องปฏิบัติการที่ได้การยอมรับในระดับสากล ซึ่งการส่งผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปทดสอบคุณภาพและยื่นขอการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นประมาณ 7 แสนถึง 1 ล้านบาทต่อตัวอย่าง
"...ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานผลการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของงานบริการของศูนย์ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพสามารถสร้างผลลัพธ์และผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจากการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในปีงบประมาณ 2564 คิดเป็นมูลค่า 246.10 ล้านบาท ผู้เข้ามาขอรับบริการมีต้นทุนลดลงอย่างน้อย 5 ล้านบาท มีการส่งออกเพิ่มขึ้น 240.80 ล้านบาท และคาดว่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2565 มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 261 ล้านบาท..." ผู้อำนวยการ BioD กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก BioD หรือ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์สลายตัวทางชีวภาพตามมาตรฐานสากล ได้ที่ โทร. 0 2577 9057 , 0 2577 9062 หรือที่ E-mail : anchana@tistr.or.th