กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ผลสำเร็จดันสตาร์ทอัพไทย ปี 2565 กระตุ้นเศรษฐกิจไทยกว่า 420 ล้านบาท จากโครงการ Angel Fund (แองเจิ้ล ฟันด์) สามารถดันสตาร์ทอัพไทย กว่า 71 ธุรกิจในหลากหลายสาขาเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต่อยอดการตลาด สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 70 ล้านบาท ควบคู่โครงการ Startup Connect (สตาร์ทอัพ คอนเน็กต์) เชื่อมโยงเครือข่ายตลาดและแหล่งเงินทุนสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 350 ล้านบาท แย้มปี 2566 ผนึกทุกฝ่ายส่งเสริมเข้มข้นขึ้นเป้าหมายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยแข่งขันตลาดโลก ดันระบบเศรษฐกิจเติบโตยั่งยืน
นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพไทยตามนโยบายของรัฐบาลว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือ ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินงานผ่านโครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ หรือ Angel Fund โดยร่วมมือกับบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สนับสนุนเงินทุนแบบให้เปล่า และโครงการเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup Connect มุ่งพัฒนาทักษะการดำเนินธุรกิจ เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกกลุ่ม เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการตลาดอย่างเหมาะสม ล่าสุดผลการดำเนินงานทั้ง 2 โครงการในปี 2565 สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ประเทศ รวมถึง 420 ล้านบาท
นายจุลพงษ์ กล่าวเสริมว่า ในภาพรวมดีพร้อมได้ส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นจำนวน 44 ธุรกิจ จำนวนนี้ มี 6 ธุรกิจได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ Angel Fund เกิดการจัดตั้งบริษัทใหม่และจ้างงานในประเทศ ไม่น้อยกว่า 130 คน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจรวมไม่น้อยกว่า 70 ล้านบาท ขณะที่โครงการ Startup Connect ซึ่งมุ่งเน้นกิจกรรม Co-creation การสร้างนวัตกรรมร่วม หรือการเปิดช่องทางให้สตาร์ทอัพ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับพันธมิตรเอกชนรายใหญ่และทดลองใช้นวัตกรรม หรือโซลูชั่นส์ในตลาดจริง (Proof of Concept: POC) อีกทั้ง ยังช่วยเชื่อมโยงสตาร์ทอัพเข้าถึงตลาดภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่ากว่า 250 ล้านบาท พร้อมเชื่อมโยงไปสู่แหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ (VC/CVC) 115 ล้านบาท รวมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท
"ผลการดำเนินงานยังแสดงให้เห็นถึงแนวคิดการดำเนินธุรกิจของสตาร์ทอัพในหลากหลายสาขาที่มีความน่าสนใจและมีความเกี่ยวข้องกับ "เทคโนโลยีเชิงลึก" (Deep Technology) ทั้ง 12 ด้าน อาทิ การแพทย์ครบวงจร การเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ แพลตฟอร์มดิจิทัล เทคโนโลยีการเงิน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหุ่นยนต์ เกิดเป็นนวัตกรรมที่หลากหลาย อาทิ EMMA -เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 12 ลีดอัจฉริยะ สามารถวิเคราะห์และจำแนกเคสที่ผิดปกติของโรคหัวใจได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำราคาเข้าถึงได้ Planet C - แพลตฟอร์มช่วยบริหารจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบเรียลไทม์สำหรับอุตสาหกรรม Electronic Nose เครื่องตรวจวัดกลิ่นแบบดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ MUU นมวัวที่ผลิตโดยไม่ใช้วัว ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารของโลก YABEZ Sorderm Cream/Lotion ยารักษาผิวหนังอักเสบ Maxflow - เครื่องปรับคุณภาพน้ำด้วยสนามแม่เหล็กถาวร สำหรับการเพาะปลูก UPCYDE leather หนังเทียมจากขยะทางการเกษตร iRon-X ชุดฝึกแขนกลหุ่นยนต์ OXYMILK เครื่องนวดกระตุ้นน้ำนมคุณแม่ในช่วงให้นมลูก และRenewsi ซิลิกอนเกรดแบตเตอรี่จากขยะโซลาเซลล์ สำหรับทำเป็นขั้วไฟฟ้าในเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนยานยนต์ไฟฟ้า" นายสุริยะ กล่าวสรุป
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม กล่าวว่า เพื่อขับเคลื่อนสตาร์ทอัพไทยอย่างต่อเนื่อง ปี 2566 ดีพร้อมจะร่วมมือกับภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนอย่างเข้มข้น จะมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายตลาดภาครัฐควบคู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแต้มต่อสำคัญให้สตาร์ทอัพนำผลิตภัณฑ์หรือบริการเข้าไปร่วมทดสอบ (Prove of concept: POC) หรือทำงานกับหน่วยงานภาครัฐและอุตสาหกรรมได้มากขึ้น โดยมุ่งเป้าสนับสนุนเทคโนโลยีด้าน GovTech (Government Technology) ที่ช่วยให้ภาครัฐทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง IndustryTech เทคโนโลยีและโซลูชันที่ถูกคิดค้นและพัฒนาเพื่อกระบวนการทางอุตสาหกรรมและเป็นวิศวกรรมขั้นสูงที่แก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรมตรงจุด ทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพให้แข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจประเทศต่อไป
ด้าน นายจาง ช่าย ซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทฯ ยังคงให้ความร่วมมือกับดีพร้อมด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนกับสตาร์ทอัพที่คิดค้นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีแก้ไขปัญหาของโลกในด้านต่าง ๆ โดยบริษัทฯ มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของสตาร์ทอัพที่ได้รับการบ่มเพาะจากโครงการตลอด 7 ปี เพราะสตาร์ตอัพเหล่านี้ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้และพัฒนาธุรกิจเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น ช่วยดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มผู้สนับสนุนที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต เพราะโลกธุรกิจปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี จึงต้องการนวัตกรรมมาตอบโจทย์อย่างไม่หยุดนิ่ง
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6865-66 ต่อ 4 และติดตามข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipromindustry หรือ www.diprom.go.th