พิธีปิดโครงการพัฒนาระบบการจัดการของเสียจากเรือของท่าเรือกรุงเทพ

ข่าวทั่วไป Thursday September 15, 2022 09:53 —ThaiPR.net

พิธีปิดโครงการพัฒนาระบบการจัดการของเสียจากเรือของท่าเรือกรุงเทพ

เราจะสามารถหยุดการทิ้งขยะลงสู่ท้องทะเลได้อย่างไร?: ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในนานาประเทศที่มีขยะไหลลงสู่ท้องทะเลมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งขยะทะเลโดยส่วนมากนั้นมาจากทั้งกิจกรรมบนบกและในทะเล อาทิ การสัญจรทางน้ำที่มากขึ้นซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการลักลอบทิ้งขยะลงทะเลอย่างผิดกฎหมาย ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วมกับโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเลที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป (EU) และรัฐบาลเยอรมัน ดำเนินงานโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และ Expertise France (EF) ได้ร่วมกันทำโครงการนำร่องเพื่อต่อต้านการทิ้งขยะลงทะเลจากเรือแบบผิดกฎหมายด้วยการพัฒนาระบบการจัดการของเสียจากเรือของท่าเรือกรุงเทพ กิจกรรมโครงการนำร่องนี้ยังได้รับความร่วมมือจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย และบริษัท เฟิร์ส บิส โซลูชั่น จำกัด

ด้วยความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ ในการศึกษาข้อกำหนดการจัดการของเสียรวมถึงการบริการการจัดการของเสียของท่าเรือกรุงเทพ รวมถึงออกแบบ และดำเนินระบบการจัดส่งแบบแจ้งข้อมูลของเสียจากเรือ (Ship Waste Notification Management System: WNMS) ซึ่งเป็นการกำหนดให้เรือจำเป็นต้องแจ้งปริมาณของเสียที่จะถ่ายเท ณ ท่าเรือฯ โดยจะต้องแจ้งทางท่าเรือฯ ก่อนเรือเทียบท่า ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการของเสีย และการตรวจสอบขั้นตอนต่าง ๆ ในการจัดการของเสียจากเรืออีกด้วย นอกจากนั้นยังเป็นการพัฒนาปรับปรุงระบบการรวบรวมข้อมูลของเสียภายใต้การกำกับดูแลของทางท่าเรือกรุงเทพ โดยในวันที่ 1 กันยายน องค์กรภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะนำเสนอระบบการจัดการของเสียจากเรือที่ได้รับการพัฒนารวมถึงผลการดำเนินงานให้กับเจ้าหน้าที่ท่าเรือฯ และผู้ที่สนใจได้ทราบในระหว่างพิธีปิดโครงการ ณ ห้องศาลาไทยบอลรูม ชั้น 5 โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค และท่าเรือกรุงเทพ กิจกรรมนี้ถูกจัดขึ้นโดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 60 ท่านจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งแสดงความสนใจในแนวทางแก้ไขปัญหาและจัดการของเสียจากเรือให้ดีขึ้น

ในพิธีเปิด Mr. Paolo Zingale ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยได้กล่าวสรุปไว้ว่า "เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เรือต่าง ๆ รวมถึงเรือประมงที่จะสามารถนำของเสียและวัสดุตกค้างทั้งหมดไปยังจุดรองรับของเสีย ณ ท่าเรือกรุงเทพ แทนการทิ้งลงสู่ทะเลอย่างผิดกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ข้อกำหนดและบริการการจัดการของเสียที่ได้รับการพัฒนาในท่าเรือ ตลอดจนข้อมูลและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และเรือต่าง ๆ จะสามารถสร้างจุดเปลี่ยนในการลดขยะในทะเลได้ โดยในสหภาพยุโรป เรามีแนวทางที่หลากหลายที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณของเสีย และการทิ้งขยะอย่างผิดกฎหมายลงสู่ทะเลมีจำนวนลดลงอย่างมาก ผมดีใจที่เรามีโอกาสร่วมงานกับพันธมิตรที่มีประสบการณ์และความตั้งใจ รวมถึงท่าเรือกรุงเทพเป็นท่าเรือที่สำคัญยิ่งในประเทศไทย เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆเหล่านี้และพัฒนาการทำงานในรูปแบบอนาล็อกและเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆไปด้วยกัน"

ระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา องค์กรภายใต้ความร่วมมือได้ช่วยกันพัฒนาระบบการจัดส่งแบบแจ้งข้อมูลของเสียจากเรือ ซึ่งจะบูรณาการร่วมกับแพลตฟอร์ม e-Port ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งพร้อมใช้งานแล้วหลังจากพนักงานและตัวแทนเรือได้รับการอบรม โดยสามารถใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์มือถือในการแจ้งประเภทและปริมาณของเสียที่ต้องการกำจัดก่อนเทียบท่า จากนั้นจึงจะได้รับประกาศนียบัตรออนไลน์เพื่อเป็นหลักฐานการกำจัดของเสีย กระบวนการนี้จะช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น คู่มือการจัดการของเสียจากเรือซึ่งอธิบายถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการและการรวบรวมของเสียพร้อมทั้งปรับปรุงให้เป็นฉบับปัจจุบันเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานและหน้าที่ต่าง ๆ มีความชัดเจน โดยคู่มือนี้เป็นคู่มือสำหรับเรือที่จะเทียบท่าเรือกรุงเทพ รวมถึงตัวแทนเรือ บริษัทรับจัดการของเสีย รวมถึงผู้ให้บริการด้านอื่น ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียที่ท่าเรือกรุงเทพ ทั้งนี้ การกำหนดค่าธรรมเนียมในการจัดการของเสียจากเรือที่เหมาะสมบนหลักการของ Cost Recovery System (CRS) จะเป็นการรับรองว่าค่าบริการกำจัดของเสียที่เรือได้ชำระไปนั้น มีการดำเนินงานไปอย่างโปร่งใส

นายแถมสิน ศรีบางพลีน้อย รองผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ ได้กล่าวต้อนรับโดยยกประเด็นด้านประโยชน์ของการใช้ระบบออนไลน์ว่า " การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยพัฒนาระบบการจัดส่งแบบแจ้งข้อมูลของเสียจากเรือผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการให้ได้รับการบริการอย่างสะดวก รวดเร็ว ช่วยจัดเก็บ และรวบรวมข้อมูลปริมาณของเสียจากเรือในแต่ละปี เพื่อใช้ในการวางแผนจัดการของเสียของท่าเรือกรุงเทพ ทั้งช่วยลดการลักลอบทิ้งของเสียจากเรือลงสู่แหล่งน้ำในอาณาบริเวณท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมถึงตอบสนองนโยบายลดการใช้กระดาษภายในการท่าเรือฯ อีกด้วย "

หลังจากพิธีจบโครงการ ผู้ร่วมงานทุกท่านยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมบริเวณโดยรอบของท่าเรือกรุงเทพเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการจัดการของเสียจากเรือของท่าเรือกรุงเทพ และเรียนรู้เพิ่มเติมภายในท่าเรือฯ

"เพื่อลดการทิ้งของเสียจากเรืออย่างผิดกฎหมายลงทะเล จำเป็นต้องพัฒนาระบบแจ้งเตือนการจัดการของเสียแบบบังคับที่มีประสิทธิภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และจัดฝึกอบรมและถ่ายทอดประสบการณ์จากโครงการนำร่องให้กับบริษัทเรือขนส่งและท่าเรืออื่นๆที่สำคัญของไทย" ดร. จักรพงศ์ พงศ์ธไนศวรรย์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริม

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ:

https://rethinkingplastics.eu/pilot-projects-en/96-ship-waste-management-2-0

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ