นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง "เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก" โดยมีนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร นายนานริ ทากาชิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดซากะ ประเทศญี่ปุ่น นายโอบะ ยูอิจิ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ดร. ซูซูตะ ยูกิโอะ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู ประเทศญี่ปุ่น นายคุริยามะ มาซายูกิ ผู้อำนวยการเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ และผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากรเข้าร่วมในพิธี ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า พุทธศักราช ๒๕๖๕ นับเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งในวาระครบรอบ ๑๓๕ ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการส่งเสริมศิลปาชีพ เครื่องปั้นดินเผาให้แก่ราษฎรทั่วประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร จึงร่วมกับจังหวัดซากะ ประเทศญี่ปุ่น จัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง "เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก" โดยจังหวัดซากะอนุญาตให้กรมศิลปากรนำเครื่องเคลือบเซรามิกจากพิพิธภัณฑสถาน เซรามิกแห่งคิวชู จำนวน ๘๒ รายการ ๙๗ ชิ้น มาจัดนิทรรศการพิเศษร่วมกับเครื่องปั้นดินเผาไทย จำนวน ๙๐ รายการ ทั้งนี้ เครื่องเคลือบเซรามิกเป็นหัตถศิลป์อันเชิดหน้าชูตาและทุนวัฒนธรรมสร้างสรรค์เศรษฐกิจของจังหวัด ซากะมายาวนาน เครื่องปั้นดินเผาของเมืองอาริตะ จังหวัดซากะ ประเทศญี่ปุ่น และเครื่องปั้นดินเผาของไทยจากหลายแหล่งในประเทศ เป็นโบราณวัตถุสำคัญและประจักษ์พยานแห่งการติดต่อสัมพันธ์ลึกซึ้งยาวนานของสองประเทศ
เนื้อหาการจัดแสดงนิทรรศการฯ แบ่งออกเป็น ๖ หัวเรื่อง คือ
๑. น้อมสำนึกพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง: เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
๒. วิวัฒนาการเซรามิกแห่งสองสายใย (ญี่ปุ่น-ไทย) ในโลกพาณิชยวัฒนธรรม
๓. ภูมิปัญญาชาวแหลมทองและชาวอาทิตย์อุทัย ในดิน-น้ำ-ลม-ไฟ: "ปั้นดินทราย ฉาบไล้ด้วยน้ำ นำผึ่งลม โหมฟืนไฟในเตาเผา" บอกเล่าเรื่องราวภูมิปัญญาการผลิตเครื่องปั้นดินเผาของญี่ปุ่นและไทย
๔. สูงสุดแห่งภูมิปัญญา: ภาพฉายาในพาณิชยวัฒนธรรมโลก สะท้อนเรื่องราวการค้า ศิลปะและวัฒนธรรมผ่านเครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่นและไทยที่ไปไกลยังต่างแดน
๕. แรงบันดาลใจไม่หยุดยั้งคือพลังสร้างสรรค์ใหม่ โดยสืบทอดวัฒนธรรมและพัฒนากระบวนการผลิตสู่ความคิดใหม่
๖. สำรับคาวหวาน อาหารญี่ปุ่น - ไทย ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมอาหารควบคู่กับภาชนะที่มีบทบาทสำคัญมาแต่อดีต
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้ร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่
วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. การบรรยายทางวิชาการ เรื่อง "เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก" โดย ดร. ซูซูตะ ยูกิโอะ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก)
วันที่ ๑๔ - ๑๖ กันยายน ๒๕๖๕ กิจกรรม "TRIP to SAGA" สัมผัสเสน่ห์การท่องเที่ยว อาหารหัตถกรรมดั้งเดิมของจังหวัดซากะ ประกอบด้วย เวิร์คช็อป (Workshop) กิจกรรมลงสีเครื่องปั้นดินเผาอาริตะยากิ ทดลองลงสีบนจานอาริตะยากิ ผู้ร่วมกิจกรรม ๒๐ ท่านต่อวัน ซึ่งจานที่ลงสีแล้วจะนำไปเผาอบให้สีอยู่ตัวก่อนจะมอบให้ผู้ร่วมกิจกรรมต่อไป กิจกรรมทำเครื่องประดับจากเศษกระเบื้องที่เกิดจากกระบวนการเผาเครื่องปั้นดินเผาอาริตะยากิ ผู้ร่วมกิจกรรม ๖๐ ท่านต่อวัน โดยสามารถเข้าร่วมในแต่ละกิจกรรมท่านละ ๑ ครั้งเท่านั้น และยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมโบราณที่สืบทอดกันมาของญี่ปุ่น การจัดแสดงและจำหน่ายของดีจังหวัดซากะอีกด้วย
กิจกรรมเวิร์คช็อป (Workshop) จากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้แก่ การขึ้นรูปชิ้นงานจาน ๓ ครั้งๆ ละ ๔ รอบ ในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๕ วันที่ ๙ และ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๕ และการเขียนสีใต้เคลือบ ๓ ครั้งๆ ละ ๔ รอบ ในวันที่ ๖ และ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ และ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๕ ผู้ร่วมกิจกรรมรอบละ ๓๐ ท่าน
กรอกแบบฟอร์มลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมสำนักช่างสิบหมู่ได้ที่ https://forms.gle/TizU2wEYujkzxTKv7
นิทรรศการพิเศษ เรื่อง "เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก" เปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ ๑๔ กันยายน ถึงวันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันพุธ - อาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. ปิดวันจันทร์ - อังคาร ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมศิลปากร finearts.go.th