วว. ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามระดับโลก "COSMOPROF ASEAN BANGKOK 2022" พร้อมโชว์นิทรรศการผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดพืชอัตลักษณ์/สมุนไพรไทย ในโครงการ Thai Cosmetopia
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน COSMOPROF ASEAN BANGKOK 2022 งานแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามระดับโลกของอุตสาหกรรมความงามในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจัดโดย บริษัท อินฟอร์ม่า มาร์เก็ต ประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 15-17 กันยายน 2565 ณ Hall 9-10 อิมแพค เมืองทองธานี โอกาสนี้ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำผลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น หรือ Thai Cosmetopoeia ซึ่งนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ "นวัตอัตลักษณ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของไทย" ร่วมจัดแสดงในรูปแบบสารสกัดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ณ บูธ N 47 ได้แก่
ครีมชะลอวัยเมือกหอยทากผสมสารสกัดสมุนไพร อัตลักษณ์จากจังหวัดนครนายก โดย วว. สกัดเมือกหอยทากไทยสายพันธุ์อาช่า ซึ่งมีคอลลาเจน อีลาสติน และสารปฏิชีวนะธรรมชาติ ช่วยต้านเชื้อจุลินทรีย์ โดยสารไกลโคลิกแอซิดในเมือกหอยทากจะแทรกซึมเข้าชั้นผิวหนังได้ดี ช่วยเร่งการสังเคราะห์คอลลาเจนในชั้นผิวหนัง
เครื่องสำอางนาโนจากสารสกัดเมล็ดมะขาม พืชอัตลักษณ์จากจังหวัดเพชรบูรณ์ วว. เพิ่มมูลสกัดสารสำคัญจากเปลือกมะขาม พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามในรูปของนาโนอิมัลชัน ที่มีขนาดเล็กในระดับอนุภาคนาโนสามารถซึมผ่านผิวหนังชั้นบน เพื่อไปออกฤทธิ์ยังเซลล์เป้าหมายในชั้นใต้ผิวหนังได้
ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากสารสกัดมังคุด พืชอัตลักษณ์หมู่บ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช วว. สกัดสารจากเปลือกมังคุดเขาคีรีวงที่อุดมไปด้วยเอนไซม์ไทโรซิเนส มีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างเม็ดสีที่ก่อให้เกิดฝ้า กระ ลดริ้วรอย มีอัลฟัลฟ่าในปริมาณสูงกว่ามังคุดทั่วไป นำมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางหลากหลายชนิดภายใต้แบรนด์เพ็ชรคีรี
เครื่องสำอางสีธรรมชาติจากห้อม พืชอัตลักษณ์จากจังหวัดแพร่ วว. พัฒนาเทคนิคเฉพาะสกัดสารสีน้ำเงินจากต้นห้อมได้ผงสีจากธรรมชาติ 100% ที่มีความคงตัวและปลอดภัยต่อดวงตา นำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอางต้นแบบหลากหลาย เช่น มาสคาร่าสบู่ เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์เซรั่มจากดอกบัวแดง พืชอัตลักษณ์จากจังหวัดอุดรธานี วว. ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์จากดอกบัวแดง โดยนำสารสกัดจาก วิสาหกิจชุมชนแชแล อุดรธานี พัฒนากระบวนการสกัด วิเคราะห์สารสำคัญ Phytochemica เชื่อมโยงการวิจัยของ วว. พร้อมทั้งประเมินความปลอดภัย ทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพและต่อยอดพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เซรัมจากดอกบัวแดง ที่มีสารอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งการสร้างเมลานินต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว
ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมจากใบหมี่ พืชอัตลักษณ์จากจังหวัดน่าน วว. ได้พัฒนากระบวนการสกัดสารสำคัญคุณภาพสูงจากใบหมี่ เทียบเท่ากับระดับอุตสาหกรรม สารสกัดที่ได้นำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่วยยับยั้งเอ็นไซม์ 5 alpha reductase ลดการหลุดร่วงของเส้นผม สร้างช่องทางธุรกิจให้แก่ชุมชนเป็นผู้จำหน่ายสารสกัดคุณภาพสูงได้มาตรฐานสากล
เครื่องสำอางจากชาใบเมี่ยง พืชอัตลักษณ์จากจังหวัดน่าน วว. พัฒนาระบบสกัดศึกษาสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงผิวหน้าจากชาเมี่ยง พัฒนาเป็นเครื่องสำอางจากชาใบเมี่ยงที่มีสารออกฤทธิ์ต้านการอักเสบจากการติดเชื้อ และต้านการอักเสบจากแสงแดด
แผ่นมาร์กชีทจากน้ำมะพร้าว พืชอัตลักษณ์จากจังหวัดสมุทรสงคราม วว. นำน้ำมะพร้าวที่เหลือทิ้งจากการใช้อุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าว พัฒนาเป็น Biocellulose และต่อยอดเป็นแผ่นมาร์กชีท ถือเป็น Biocellulose จากธรรมชาติที่มีความยืดหยุ่นสูงกระชับกับผิวหน้า
น้ำมันระเหยจากขิง พืชอัตลักษณ์จากจังหวัดเพชรบูรณ์ วว. สกัดน้ำมันหอมระเหยขิง ที่มีส่วนประกอบของ esquiterpenesช่วยบำรุงระบบทางเดินอาหาร ช่วยย่อยอาหารลดอาการคลื่นไส้ และยังใช้เป็นน้ำมัน Aroma สำหรับใช้นวดผ่อนคลาย
เครื่องสำอางจากน้ำผึ้งดอกลำไย พืชอัตลักษณ์จากจังหวัดเชียงใหม่ วว. วิจัยพบว่า ในน้ำผึ้งแท้ มีปริมาณ Total phenolic phenolic สูง เหมาะสำหรับนำไปพัฒนาเป็นเครื่องสำอาง สำหรับลดริ้วรอยให้ความชุ่มชื่นแก่ผิวหน้า
นอกจากการแสดงนิทรรศการผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าวแล้ว วว. ยังได้ให้คำปรึกษา/เจรจาธุรกิจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมจัดแสดงภารกิจงานบริการวิเคราะห์ทดสอบจากศูนย์บริการนวัตกรรมเครื่องสำอางแบบครบวงจร (Innovative Cosmetic Services Center : ICOS) ซึ่ง วว. จัดตั้งขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการบริการผลิตเครื่องสำอางที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน ตามแนวทางวิธีการที่ดีในการผลิตเครื่องสำอางอาเซียน โดย ศูนย์ฯ แห่งนี้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ ด้วยการให้บริการที่เป็น Total Solution เบ็ดเสร็จและครบวงจร สามารถพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ Startup เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจผ่านการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมตามนโยบายของรัฐบาล (ในวันที่ 15 กันยายน 2565 @ อิมแพค เมืองทองธานี)