อาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนา NurseSims Kit นวัตกรรมชุดการเรียนรู้รูปแบบการจำลองสถานการณ์ เตรียมทักษะการทำหัตถการของนักศึกษาพยาบาล ส่งเสริมสมรรถนะทางวิชาชีพและความฉลาดทางดิจิทัลก่อนลงสนามจริง
การเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด-19 อาจเป็นประโยชน์สำหรับการเรียนการสอนในหลายสาขาวิชา แต่สำหรับวิชาที่มีภาคปฏิบัติเช่นในสายวิชาชีพแพทย์และพยาบาลที่ต้องมีการฝึกทำหัตถการ ไม่ว่าจะฉีดยาหรือแทงเข็มเข้าเส้นเลือดต่างๆ นักศึกษาจะฝึกภาคปฏิบัติกันอย่างไร?
นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร. ประกอบ กรณีกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งใจออกแบบและพัฒนา "NurseSims Kit" นวัตกรรมช่วยฝึกทักษะการทำหัตถการให้กับนักศึกษาพยาบาลด้วยชุดอุปกรณ์หุ่นจำลองและแอปพลิเคชัน การันตีความสำเร็จด้วยหลายรางวัลระดับนานาชาติ อาทิ เหรียญทอง จากงาน The International Invention Innovation Competition in Canada, iCAN 2022 และเหรียญทองแดงจากงาน 2022 Japan Design, Idea and Invention Expo (JDIE 2022)
"ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนได้มากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์และพยาบาล เทคโนโลยีเข้ามาช่วยฝึกทักษะบางอย่างได้อย่างเสมือนจริงผ่านสถานการณ์จำลอง เป็นการส่งเสริมสมรรถนะทางวิชาชีพและความฉลาดทางดิจิทัลให้กับผู้เรียนไปในเวลาเดียวกัน"
ผ่าขัอจำกัดการฝึกทักษะวิชาชีพการพยาบาล
รศ.ดร. ประกอบ เล่าถึงข้อจำกัดในการจัดการเรียนสอนออนไลน์ของวิชาชีพพยาบาลในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่นำไปสู่การคิดค้น "NurseSims Kit" ว่า "โดยปกติแล้ว การฝึกทำหัตถการ นักศึกษาพยาบาลจะต้องรวมตัวกันในห้องปฏิบัติการและฝึกจากสถานการณ์ โดยมีผู้สอนดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิดและให้ผลป้อนกลับกับผู้เรียนว่าทำถูกต้องหรือไม่ แต่เมื่อต้องเรียนแบบออนไลน์ ก็ยากที่อาจารย์ผู้สอนจะดูแลได้ใกล้ชิดหรือตรวจสอบว่านักศึกษาทำถูกต้องหรือเปล่า และการให้นักศึกษามารวมตัวกันมากๆ ก็ทำไม่ได้"
"แม้ตอนนี้การจัดการเรียนการสอนสามารถกลับมาทำตามแบบปกติเดิมได้ แต่การฝึกทำหัตถการก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องห้องปฏิบัติการที่มีต้นทุนสูง อีกทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการฝึกทักษะมีราคาแพง บางสถาบันที่สอนการพยาบาลไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้ให้พร้อมสำหรับฝึกนักศึกษาเพื่อจะได้ฝึกกันอย่างเต็มที่"
NurseSims Kit จึงไม่เพียงตอบโจทย์การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แต่ยังตอบโจทย์ด้านการลดต้นทุนในการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนได้อีกด้วย
NurseSims Kit ผู้ช่วยฝึกทักษะพบาบาลยุคดิจิทัล
ในการพัฒนา NurseSims Kit อาจารย์ประกอบได้รับความร่วมมือจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรีสุดา วงศ์วิเศษกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้ให้ข้อมูลด้านการฝึกทักษะวิชาชีพพยาบาล และเป็นสถาบันที่ใช้ NurseSims Kit ในการฝึกปฏิบัติจริง เพื่อนำมาออกแบบและพัฒนานวัตกรรมที่ตรงใจกับผู้ใช้งานที่สุด
NurseSims Kit เป็นชุดอุปกรณ์ประกอบด้วยหุ่นจำลองที่มีการฝังชุดควบคุมเซ็นเซอร์ไว้ และแอปพลิเคชัน โดยมีบทเรียนเป็นสถานการณ์จำลองที่ผู้เรียนต้องฝึกฝน 5 สถานการณ์ด้วยกัน ได้แก่
"นักศึกษาพยาบาลจะฝึกทำหัตถการกับหุ่นจำลอง เซ็นเซอร์ที่ประกอบอยู่ในตัวหุ่นจะส่งข้อมูลผลการปฏิบัติไปยังแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผูสอนตรวจสอบผลการปฏิบัติได้ทันทีหรือย้อนหลังก็ได้เพราะแอปพลิเคชันจะบันทึกข้อมูลไว้แล้ว นอกจากนี้ผู้สอนยังสามารถนำข้อมูลผลการปฏิบัติมาอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาคนอื่นๆ ในชั้นเรียนได้อีกด้วย" รศ.ดร.ประกอบ อธิบายการทำงานของชุดอุปกรณ์
นวัตกรรม NurseSims Kit ได้นำร่องทดลองใช้แล้วในการสอนภาคปฏิบัติกับนักศึกษาพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมื่อปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งในแง่การรายงานผลการฝึกทักษะของนักศึกษาและการเรียนการสอนที่ต้องรักษาระยะห่าง ทำให้ รศ.ดร.ประกอบ มั่นใจว่านวัตกรรมนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับสถาบันการศึกษาด้านพยาบาลอีกหลายแห่ง
อนาคตเทคโนโลยีการเรียนรู้
รศ.ดร.ประกอบ กล่าวว่า NurseSims Kit เป็นหนึ่งในตัวอย่างการออกแบบและบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งในอนาคตน่าจะต้องพัฒนาให้มากขึ้นและหลากหลายสำหรับสาขาวิชาชีพและการเรียนรู้ต่างๆ โดยเฉพาะในสายวิชาชีพทางการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข ซึ่งมีความรู้และทักษะจำเพาะที่ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง
"ในโปรเจคต่อๆ ไป ผมวางแผนที่จะนำหลักการทางเทคโนโลยีการศึกษาไปบูรณาการกับศาสตร์ต่างๆ เช่น การแพทย์ ภาษา เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต" รศ.ดร.ประกอบ กล่าวทิ้งท้าย
สถาบันการศึกษาที่สนใจ NurseSims Kit สามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ prakob.k@chula.ac.th รองศาสตราจารย์ ดร. ประกอบ กรณีกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย