บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ สานต่อโครงการ "กล้าจากป่า พนาในเมือง" เข้าสู่ปีที่ 2 สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานลงมือทำเพื่อสร้างความยั่งยืน กระจายกล้าไม้ 2 หมื่นกล้า ทั้งไม้ยืนต้นและพืชสวนครัว แจกพนักงานทั่วประเทศปลูกบริเวณที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการ ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และร่วมบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯดำเนินโครงการกล้าจากป่า พนาในเมือง (Forest in the City) เข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมภายใต้เป้าหมายความยั่งยืน "CPF Sustainability in Action ยั่งยืนได้ด้วยมือเรา" ที่เน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานร่วมสร้างความยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมการปลูกต้นไม้บริเวณที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการ สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับครัวเรือน ซึ่งหลังจากเปิดตัวกิจกรรมดังกล่าวในปีแรก กระจายกล้าไม้เพื่อปลูกได้มากกว่า 27,000 ต้น และในปีนี้ มีแผนที่จะกระจายกล้าไม้ให้พนักงานอีก 20,000 ต้น
"โครงการ กล้าจากป่า พนาในเมือง มีจุดเริ่มต้นที่พนักงานในองค์กรลงมือทำ และส่งต่อโครงการดีๆ สู่คนรอบข้าง ครอบครัว รวมไปถึงความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ที่สามารถนำรูปแบบไปประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือของภาคประชาชน เพื่อร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังเป็นโครงการฯที่สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้งการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศ (ข้อ 13) และการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก (ข้อ 15) " นายวุฒิชัย กล่าว
ซีพีเอฟ ยังได้ขยายผลของโครงการฯ โดยร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำโครงการ "กล้าจากป่า พนาในเมือง (กทม.) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมส่งเสริมให้ชาวกรุงเทพมหานครปลูกต้นไม้ จำนวน 1 แสนต้น โดยซีพีเอฟจะสนับสนุนกล้าไม้ในส่วนดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนนำไปปลูก และอีกส่วนหนึ่ง บริษัทฯจะช่วยหาไม้ยืนต้นที่มีคุณลักษณะที่เหมาะสมและสวยงาม เพื่อปรับภูมิทัศน์ขอถนนสีลมให้เป็นต้นแบบถนนสีเขียว ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และผลกระทบจากโลกร้อน
โครงการ "กล้าจากป่า พนาในเมือง" เป็นโครงการระยะ 5 ปี ( ปี 2564-2568) ที่ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมปลูกต้นไม้ 100,000 ต้น โดยต้นทางของกล้าไม้มาจากพื้นที่ โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี และ โครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ได้คัดเลือกชนิดของพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมและเป็นพันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ อาทิ ต้นพะยูง ต้นประดู่ป่า ต้นมะค่าโมง ต้นกันเกรา ต้นยางนา เป็นต้น พร้อมกับการนำต้นกล้าที่ได้รับการดูแลกล้าไม้ให้แข็งแกร่งโดยชุมชน มาแจกจ่ายต่อพนักงานเพื่อนำไปปลูก เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการรักษาป่าและมีรายได้จากการเพาะพันธุ์กล้าไม้ รวมทั้ง บริษัทฯ ยังได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนรับกล้าไม้ บันทึกข้อมูลการปลูกและการเติบโตของต้นไม้ เพื่อประเมินการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งภายใต้แผน 5 ปี คาดว่าจะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้รวม 2,850 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้ ซีพีเอฟเปิดให้พนักงานลงทะเบียนขอรับกล้าไม้ ในระบบ LINE OA ผ่าน QR Code ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม -4 กันยายน 2565 โดยได้กระจายกล้าไม้ไปเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา กำหนดจุดกระจายกล้าไม้ 6 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงานในการรับกล้าไม้ไปปลูก คือ อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ สีลม โครงการเขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี ฟาร์มบ้านธาตุ อ. แก่งคอย จ. สระบุรี ศูนย์การเรียนรู้สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำบ้านบึง จ.ชลบุรี และ โครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน จ.ระยอง ./