'บมจ. บล. จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย)' หรือ Z โชว์ศักยภาพผู้นำการให้บริการด้านบัญชีเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ในธุรกิจหลักทรัพย์ของไทย ภายใต้ 4 กลยุทธ์หลักเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน รุกสร้างความแตกต่างจากธุรกิจหลักทรัพย์อื่น ชูจุดเด่นบริการบัญชีเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ดอกเบี้ยให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ถูก ค่าคอมมิชชั่นต่ำ พร้อมเดินหน้ายกระดับการเทรดด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากญี่ปุ่น หนุนขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจหลักทรัพย์ด้านการให้บริการด้านบัญชีเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของประเทศไทย
นายเมกุมุ โมโตฮิสะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ("บริษัทฯ") หรือ Z เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2565 ยังคงอยู่ในสภาวะผันผวนจากปัจจัยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นระลอกใหม่ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ระดับราคาของสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ราคาทองคำ ราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้น เป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่มีระดับสูงขึ้น อีกทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังต้องใช้ระยะเวลาในการจะกลับมาสู่ภาวะระดับเดียวกันกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น นับเป็นโอกาสของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ หรือเป็นโอกาสของนักลงทุนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะปัจจุบันสามารถเข้าถึงข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตได้อย่างไร้ขีดจำกัด รวมถึงกระบวนการต่างๆ ที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องออกจากสถานที่พักอาศัย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวส่งเสริมให้ตลาดการลงทุนมีการขยายตัว
ทั้งนี้ บริษัทฯ ถือเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ในประเทศไทย โดยได้เข้าเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหมายเลข 10 ภายใต้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งให้บริการเฉพาะ 2 ประเภทบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ คือ 1) บัญชีเงินฝากล่วงหน้า (Cash Balance Account) และ 2) บัญชีเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Credit Balance Account) โดยมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ในนาม Z เป็นหลัก ด้วยความพร้อมด้านประสบการณ์ และการมีแหล่งเงินทุนที่แข็งแกร่ง จากการที่บริษัทฯ มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ GMO Financial Holdings Inc. ("GMOFHD") ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ GMO Internet โดยทั้ง 2 บริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (Tokyo Stock Exchange: TSE) สำหรับ GMOFHD มีการดำเนินธุรกิจในลักษณะ Holding Company โดยเน้นธุรกิจให้บริการทางการเงินได้แก่ การซื้อขายหลักทรัพย์ (Securities Trading) อัตราแลกเปลี่ยนทางการเงิน (Foreign Exchange Trading) และสินทรัพย์ดิจิทัล ครอบคลุมการให้บริการใน 4 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และประเทศไทย ซึ่งจากศักยภาพและความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจของผู้ถือหุ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นแก่ทุกภาคส่วน รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี
นายประกฤต ธัญวลัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ พร้อมมุ่งมั่นให้บริการในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แม้ปัจจุบันจะมีบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการด้านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จำนวน 38 บริษัท ซึ่งมีการแข่งขันค่อนข้างสูงและใช้กลยุทธ์การแข่งขันด้านอัตราค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ตระหนักดีถึงความเสี่ยงดังกล่าว จึงได้มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจให้บริการเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์เป็นหลัก ภายใต้แบรนด์ Z.com โดยได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จาก GMOFHD และนำมาประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย จนกลายเป็นระบบเทคโนโลยี (Initial Margin Methodology) ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุน โดยบริษัทฯ สามารถคำนวณการปรับเกรดหุ้นเพื่อให้สามารถสะท้อนถึงคุณภาพของหลักทรัพย์ตามสถานการณ์ทุกวันได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และมีจำนวนหลักทรัพย์ที่สามารถซื้อและ/หรือนำมาวางเป็นหลักประกันได้จำนวนมาก ส่งผลให้ในปัจจุบันบริษัทฯ มีรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์เป็นรายได้หลัก ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าบริษัทฯ จะสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของไทยได้อย่างแน่นอน
"แม้จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ แต่บริษัทฯ มีความแตกต่างที่ไม่เหมือนธุรกิจหลักทรัพย์อื่นๆ ที่เน้นความสำคัญกับค่าคอมมิชชั่นหรือค่านายหน้า โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นรายได้จากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์เป็นหลัก ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของเรา เพราะไม่ว่าปริมาณการซื้อขายจะมากหรือน้อย ตลาดหลักทรัพย์หยุดทำการหรือติดวันหยุดยาว ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ เนื่องจากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์สามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ ได้ทุกวัน" นายประกฤต กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บล. จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ วางเป้าหมายเป็นบริษัทอันดับหนึ่งในธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ในประเทศไทย และขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจหลักทรัพย์ของประเทศไทย โดยใช้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 1.) กลยุทธ์ด้านความหลากหลายของหลักทรัพย์ที่สามารถซื้อและนำมาวางเป็นหลักประกัน มุ่งเน้นธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Credit Balance) เป็นหลัก รวมถึงมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้มาจากประเทศญี่ปุ่น สามารถนำมาประยุกต์และปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย 2.) กลยุทธ์ด้านอัตราค่าธรรมเนียม เพื่อดึงดูดลูกค้ามาใช้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ โดยการคิดอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Commission Rate) ในอัตราร้อยละ 0.065* ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าว เป็นค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าคู่แข่งส่วนใหญ่ในตลาด เนื่องจากบริษัทฯ มุ่งเน้นให้ลูกค้าทำรายการด้วยตนเองผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก ส่งผลให้บริษัทฯ มีต้นทุนต่ำกว่าหากเปรียบเทียบกับบริษัทหลักทรัพย์อื่น 3.) กลยุทธ์ด้านช่องทางการตลาด เน้นแผนการตลาดผ่านการโฆษณาทางช่องทางออนไลน์ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีพฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังมีแผนการตลาดผ่านทางช่องทางออฟไลน์ด้วย อาทิ การออกบูธ การจัดสัมมนาให้ความรู้ และการโฆษณาผ่านช่องทางหนังสือพิมพ์ เป็นต้น และ 4.) กลยุทธ์ด้านกลุ่มลูกค้า โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทฯ จะเป็นกลุ่มนักลงทุนมีความรู้เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและความรู้ด้านการลงทุน โดยเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่อยู่ในกลุ่ม Generation X (อายุ 41-55 ปี) ซึ่งมีประสบการณ์ในการลงทุนสูง และในปัจจุบัน บริษัทฯ ได้วางแผนขยายกลุ่มลูกค้าไปยังกลุ่ม Generation Y (อายุ 25-40 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตเป็นประจำ และหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนด้วยตนเอง โดยเชื่อว่าจะทำให้บริษัทฯ มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น และจะกลายเป็นกลุ่มลูกค้าหลักต่อไปในอนาคต
นางสาวประวีนา ไหมรักษา หัวหน้ากลุ่มงานสนับสนุนงานผู้บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ "การเป็นผู้นำในธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ในประเทศไทย ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความแตกต่างและมีคุณภาพ พร้อมมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล" ด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากผลประกอบการในปี 2562 - 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม 251.53 ล้านบาท 398.15 ล้านบาท และ 719.80 ล้านบาท ตามลำดับ และสำหรับงวด 6 เดือน ปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 469.69 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 50.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากยอดลูกหนี้เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 บริษัทฯ มียอดลูกหนี้เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์อยู่ที่ 13,769 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 40.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ สำหรับพอร์ตรายได้จากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2562 - 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากดอกเบี้ยฯ จำนวน 206.11 ล้านบาท 335.33 ล้านบาท และ 639.63 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นสัดส่วน 81.94% 84.22% และ 88.86% ของรายได้รวมตามลำดับ ส่งผลให้ในปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์สูงเป็นอันดับ 1 จากบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดในประเทศไทย และสำหรับงวด 6 เดือน ปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้จากดอกเบี้ยฯ จำนวน 430.38 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 91.64% ของรายได้รวม
ขณะที่กำไรสุทธิในปี 2562 - 2564 เท่ากับ 7 ล้านบาท 45 ล้านบาท 261 ล้านบาท ตามลำดับ และสำหรับงวด 6 เดือน ปี 2565 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 182 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้บริษัทฯ มีอัตรากำไรสุทธิ 2.69% ในปี 2562 11.22% ในปี 2563 36.30% ในปี 2564 และ 38.70% สำหรับงวด 6 เดือนปี 2565 ซึ่งบริษัทฯ สามารถทำอัตรากำไรสุทธิได้ในระดับสูง เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น การควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
*หมายเหตุ: อัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ดังกล่าว ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมตลาดฯ, ค่าชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์, ค่าธรรมเนียมการกำกับดูแล และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%