ธพว. รับรางวัลทรงเกียรติ "องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2565" ประเภทดีเด่น จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม นับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว จากผลงานโดดเด่น องค์กรให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนของทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มุ่งมั่นตามพันธกิจ "เติมทุนคู่พัฒนา" คอยเคียงข้างสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยก้าวสู่ความสำเร็จ ส่งต่อคุณประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน สร้างสังคมและเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
วันนี้ (19 กันยายน 2565) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank โดยนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ เข้ารับรางวัล "องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2565" ประเภทดีเด่น ซึ่งนับเป็นอันดับสูงสุด รวมถึง ยังเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว จัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยได้รับเกียรติจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานและประธานมอบรางวัล ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า การได้รับรางวัลอันทรงเกียรติดังกล่าว ถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจของ ธพว. อย่างยิ่ง ซึ่งเกิดจากความมุ่งมั่นและทุ่มเทของคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนที่ให้ความสำคัญและเคารพในสิทธิมนุษยชนของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ทุกกลุ่มอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า คู่เทียบ ชุมชน และสังคม รวมถึงกลุ่มเปราะบางหลากหลายประเภท โดย ธพว. ยึดมั่นตามพันธกิจการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาเอสเอ็มอีไทย ให้บริการ "เติมทุน" ควบคู่ "การพัฒนา" เพิ่มขีดความสามารถให้เอสเอ็มอีเติบโตเข้มแข็งครบทุกมิติ ช่วยส่งต่อคุณประโยชน์ไปสู่ทุกภาคส่วน ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศสู่การเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ทั้งนี้ ธพว. ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว จากความโดดเด่นด้านการให้สำคัญด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสูงสุด โดยกำหนดนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจน ดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เปิดโอกาสให้ผู้บริหารและพนักงานได้ร่วมงานและเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศสภาพ จัดสวัสดิการแรงงานที่สูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ
นอกจากนั้น ธพว. ยังสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กลุ่มเปราะบาง เช่น เปิดโอกาส ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความอ่อนแอ หรือเคยล้มเป็นหนี้เสีย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อนำไปฟื้นฟูธุรกิจได้อีกครั้ง อีกทั้ง จับมือกับ 'มูลนิธิออทิสติกไทย' เปิดโอกาสให้บุคคลพิเศษ ที่ผ่านการฝึกอบรม 'บาริสต้า ออทิสติก' เปิดร้านขายกาแฟ 'For All Coffee' ภายในอาคาร SME Bank Tower สนับสนุนให้บุคคลออทิสติก รวมถึง ผู้ดูแล และครอบครัว มีพื้นที่ประกอบอาชีพ ตลอดจน จัดกิจกรรมพัฒนาส่งเสริมอาชีพกลุ่มชุมชน (Corporate Social Responsibility (CSR) และสร้างสรรค์คุณค่าธุรกิจสู่สังคม (Creating Shared Value: CSV) อย่างต่อเนื่อง เช่น ชุมชนท่าม่วง และชุมชนกุฎีจีน อีกทั้ง ปฏิเสธการให้สินเชื่อกับธุรกิจผิดกฎหมายหรือผิดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม ปฏิบัติตามจรรยาบรรณคู่ค้าทางธุรกิจของ ธพว. อย่างเคร่งครัด
"รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ สร้างความภาคภูมิใจให้พวกเราชาว ธพว. อย่างยิ่ง ซึ่งเป็นการตอกย้ำบทบาทความสำคัญของ ธพว. ในฐานะสถาบันการเงินที่ให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง พร้อมเป็นกำลังสำคัญสร้างคุณประโยชน์สู่ทุกภาคส่วน และพร้อมยืนเคียงข้างช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม ด้วยการสนับสนุนเงินทุนควบคู่ช่วยพัฒนา ให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน" นางสาวนารถนารี กล่าว