การใช้ประโยชน์จากโครงการ GSP สหภาพยุโรปของผู้ส่งออกไทย และทิศทางในอนาคต

ข่าวทั่วไป Monday March 31, 2008 10:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรปปี 2550 ยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยคิดเป็นมูลค่า 22,856.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2549 กว่าร้อยละ 26.03 สำหรับสินค้าส่งออกรายการสำคัญ ได้แก่ ส่วนประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ รถปิกอัพ เครื่องปรับอากาศ ไก่ปรุงสุก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ ยางพารา และวงจรพิมพ์ เป็นต้น
สำหรับการส่งออกภายใต้โครงการ GSP สหภาพยุโรปตลอดทั้งปี 2550 กรมการค้าต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า Form A ของสหภาพยุโรปไปเป็นจำนวน 193,963 ฉบับ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 6,913.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.22 สินค้าส่งออกรายการสำคัญที่มีการใช้สิทธิส่งออกภายใต้โครงการ GSP ของสหภาพยุโรป เป็นมูลค่าสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เลนส์แว่นตา รองเท้า สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์จากยางพารา และกุ้งปรุงแต่ง เป็นต้น
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมถึงโครงการ GSP สหภาพยุโรปในช่วงต่อไป (ปี 2552-2554) ว่าขณะนี้ สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนกฎแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ระบบ GSP และเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ สามารถแสดงข้อคิดเห็นต่อร่างกฎแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ทั้งนี้ เพื่อจัดทำร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้า โดยจะมีผลบังคับใช้พร้อมกันในวันที่ 1 มกราคม 2552
กรมการค้าต่างประเทศในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐทำหน้าที่กำกับดูแล และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับระบบสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อขอรับทราบข้อคิดเห็นต่อร่างกฎแหล่งกำเนิดสินค้าดังกล่าว และจะได้แจ้งไปยังสำนักงานพาณิชย์ ณ กรุงบรัสเซลส์ เพื่อประสานกับสหภาพยุโรปต่อไป
นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้จัดเตรียมแนวทางการรองรับและจะเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ผู้ส่งออกและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป ผู้สนใจรายละเอียดเรื่อง GSP สหภาพยุโรปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1385 กรมการค้าต่างประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ