กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ องค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา ร่วมลงนามข้อตกลงโครงการความร่วมมือ Phuket Smart City Technical Assistant Package เพื่อร่วมทุนพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะด้านต่าง ๆ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในจังหวัดภูเก็ต
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า พร้อมด้วย คุณเกว็นโดลิน เจ. คาร์ดโน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ร่วมลงนามข้อตกลงโครงการความร่วมมือ Phuket Smart City Technical Assistant Package โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และ นายอรุณ เวนคาทรามัน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพาณิชย์ด้านตลาดโลก และ อธิบดีกรมบริการการค้าต่างประเทศสหรัฐฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน
ผศ.ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า ดีป้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะแห่งชาติ ถือเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา และ สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ที่ปัจจุบันอยู่ในการดำเนินงานของ ดีป้า มีการดำเนินงานร่วมกันเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกต่าง ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี ศึกษาดูงาน ร่วมศึกษาค้นคว้า และสร้างเสริมศักยภาพบุคลากร ซึ่งการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ Phuket Smart City Technical Assistant Package ในครั้งนี้นับเป็นอีกครั้งที่สหรัฐฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับการพัฒนาของเมือง ซึ่งเป็นแกนกลางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงภูมิภาค จึงได้ร่วมลงทุนพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาของเมืองที่ใช้ความต้องการของคนเป็นศูนย์กลางและเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติในจังหวัดภูเก็ต
"นอกจากการร่วมลงทุนแล้ว USTDA จะช่วยพัฒนาข้อกำหนดทางเทคนิคและกลยุทธ์สำหรับการยกระดับแพลตฟอร์มจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมืองภูเก็ต (Phuket City Data Platform) ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรมข้อมูลและเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารเมืองและการให้บริการประชาชน โดยจะมุ่งเน้นที่การเสริมสร้างศักยภาพศูนย์บัญชาการและรวบรวมข้อมูล (Command Center) ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) สำคัญของภูเก็ต รวมถึงระบบควบคุมการจราจรและการแจ้งเหตุฉุกเฉิน โครงข่ายไฟเบอร์ออปติก เซิร์ฟเวอร์ข้อมูล การโอนย้ายข้อมูลไปยังระบบคลาวด์ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และเครือข่าย 5G เป็นต้น" ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ด้าน คุณเกว็นโดลิน เจ. คาร์ดโน ประเทศไทยมีทั้งเป้าหมายหลักและหน่วยงานรับผิดชอบในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศที่ชัดเจน USTDA มีความภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานรับผิดชอบนั่นคือ ดีป้า รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต เพื่อส่งเสริมให้จังหวัดปรับใช้แนวทางการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีที่สมัย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 10 ล้านคนที่มาเยือนในแต่ละปี นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและบริการจากสหรัฐฯ ที่ตรงตามความต้องการของภูเก็ตอีกด้วย
นอกจากนี้ คุณเกว็นโดลิน เจ. คาร์ดโน ยังได้กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งผลการดำเนินงานที่แสดงให้เห็นว่า ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และ ไทยจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล และก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่คนไทย ขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชาญฉลาด และมีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสหรัฐฯเชื่อว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรมการบ่มเพาะนวัตกรรมของสหรัฐฯ ที่จะเป็นส่วนช่วยสำคัญให้ประเทศไทยสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์และประสบความสำเร็จในยุคของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้
ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดบนเกาะทางใต้ของไทยในทะเลอันดามัน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคนทุกปี อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 26 ประเทศสมาชิกทางการของเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN) เวทีความร่วมมือของบรรดาเมืองจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ทำงานร่วมกัน เพื่อเป้าหมายการพัฒนาเมืองที่ชาญฉลาดและยั่งยืน
สำหรับการลงนามข้อตกลงโครงการความร่วมมือ Phuket Smart City Technical Assistant Package จะช่วยให้เป้าหมายของกรอบความร่วมมือ Partnership for Global Infrastructure and Investment (PGII) รุดหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาและนำเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยมาใช้ในการเร่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งช่วยให้เกิดสังคมดิจิทัลที่เปิดกว้างในอนาคต