ศูนย์ผู้สูงอายุบึงยี่โถร่วมกับ JICA ประเทศญี่ปุ่นยกระดับการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุให้มีมาตรฐานสากล

ข่าวทั่วไป Wednesday September 21, 2022 10:41 —ThaiPR.net

ศูนย์ผู้สูงอายุบึงยี่โถร่วมกับ JICA ประเทศญี่ปุ่นยกระดับการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุให้มีมาตรฐานสากล

งาน Smart & Strong Opening Ceremony  ณ ศูนย์สันทนาการและฟื้นฟูผู้สูงอายุบึงยี่โถ

เทศบาลเมืองบึงยี่โถ และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency หรือ JICA) โดยJICA ได้มอบอำนาจให้องค์กร Nogezaka-Glocal และเทศบาลเมืองยูกาวะระ เป็นผู้รับผิดชอบหลักในนามประเทศญี่ปุ่นและมีเทศบาลเมืองบึงยี่โถ จังหวัดปทุมธานี เป็นหน่วยงานหลักในนามประเทศไทยในการดำเนินโครงการบูรณาการการพัฒนาการจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุในชุมชนผ่านการสร้างเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น      ( Project on the Development of Local Authorities of a Community - based Integrated Elderly Care Model through the Networking in Thailand ) มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565 - 2568

วัตถุประสงค์หลักของโครงการ

1.) เพื่อเป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รูปแบบ ทักษะและประสบการณ์ในการดำเนินงาน

2.) เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุแบบบูรณาการในชุมชน

3.) เพื่อพัฒนา ต่อยอดและดำเนินงานกิจกรรม ด้านบริการสำหรับผู้สูงอายุแบบบูรณาการในชุมชน

การจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุที่ผ่านมาของเทศบาลเมืองบึงยี่โถเน้นการพัฒนา ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในกลุ่มเข้มแข็งควบคู่ไปกับการรักษาฟื้นฟูแบบองค์รวมในการดูแลผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยง กลุ่มภาวะพึ่งพิงและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นการดูแลทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และไม่ได้เน้นแค่กลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ปรารถนาให้คนทุกวัยในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกด้านผ่านแนวคิด "STRONG MODEL" โดยการพัฒนาการจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุในชุมชนทุกรูปแบบ อาทิ มีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน 3 แห่ง มีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุช่วงกลางวันหรือ เดย์แคร์ 1 แห่ง มีมูลนิธิข้างเตียงเคียงกันในการประสานส่งต่อ และมีศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาบึงยี่โถที่เน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นรูปแบบการจัดการแบบบูรณาการในชุมชนผู้สูงอายุ หรือเรียกว่า "โครงการสตรอง" โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยาคลินิก นักสังคมสงเคราะห์ นักบริบาลและอาสาสมัครที่ทุ่มเทกำลังในการดูแลผู้สูงอายุ ด้านนวัตกรรมผู้สูงอายุระดับอาเซียน ในสาขาความคิดริเริ่มจากชุมชน Healthy Aging Prize for Asean Innovation 2021 (HAPI Award)

สตรอง (STRONG) คือ "ผู้สูงวัย หัวใจสตรอง" ที่สื่อความหมายถึง การมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ การพัฒนาให้ผู้สูงอายุมีขีดความสามารถในการทำประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการยกระดับ การจัดบริการผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพทัดเทียมในระดับสากลให้ผู้สูงอายุของประเทศไทยได้รับการพัฒนาศักยภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีขีดความสามารถในการทำประโยชน์แก่สังคม การเกิดโครงการนี้จึงริเริ่มจากแนวคิดที่จะขยายผลความสำเร็จจากบทเรียนของ STRONG MODEL ไปยังพื้นที่อื่นในประเทศไทย

ความโดดเด่นของโครงการนี้อยู่ที่การประสานเครือข่ายความร่วมมือ หรือที่เรียกว่า การบูรณาการทุกภาคส่วนประกอบด้วย คณะทำงานหลัก คณะกรรมการบริหารจัดการโครงการ และทีมที่ปรึกษาโครงการที่มาจากผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สถาบันพระปกเกล้า คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Osaka University, Tokyo City University และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ

ท้ายที่สุดโครงการนี้ต้องการยกระดับการจัดบริการด้านผู้สูงอายุให้พัฒนาไปอีกขั้น ผ่านกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยในปีที่1 มีเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลทับมา จ.ระยอง, เทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, เทศบาลตำบลเขาพระงาม จ.ลพบุรี, เทศบาลเมืองนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี, เทศบาลท่าสายลวด จ.ตาก, เทศบาลเมืองลำพูน จ.ลำพูน, เทศบาลเมืองกันตัง จ.ตรัง และเมืองพัทยา จ.ชลบุรี และในปีที่ 2 ตั้งเป้าหมายว่าจะขยายผลการดำเนินงานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 20 แห่ง โดยมุ่งหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเกิดการจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุที่มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ เป็นต้นแบบความสำเร็จขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับภูมิภาคอาเซียน และยกระดับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

 

 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ