นั่น! ก็เพราะว่าระบบทางเดินปัสสาวะของผู้ชายมีขนาดยาวและคดเคี้ยวกว่า ตะกอนนิ่วจึงมีโอกาสตกค้างได้มากกว่า..
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder stone) เกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ เป็นนิ่วจากไตหรือท่อไตที่หลุดลงมาสะสมเพิ่มขนาดในกระเพาะปัสสาวะ และเป็นนิ่วที่เกิดในกระเพาะปัสสาวะเอง ซึ่งมักเกิดจากการขับถ่ายปัสสาวะออกไม่หมดหรือกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ ทำให้มีน้ำปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ นานวันเข้าก็จะเกิดการตกตะกอนแล้วค่อยๆ โตขึ้นเป็นก้อนนิ่ว
นอกจากนี้ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ เช่น มีการอักเสบติดเชื้อซ้ำๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ ทานอาหารที่ทำให้ปัสสาวะมีสารตกตะกอนหรือเกลือแร่เข้มข้นมาก เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ยอดผัก เครื่องในสัตว์ รวมถึงดื่มน้ำน้อยเกินไป
อาการสังเกตนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- รู้สึกปวดขณะปัสสาวะ
- ปัสสาวะลำบาก แสบหรือขัด
- ปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะไม่ออกหรือออกกะปริดกะปรอย
- ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นผิดปกติ
- มีเม็ดนิ่วลักษณะคล้ายกรวดทรายปนออกมากับปัสสาวะ
- บางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย
** หากพบว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยทันที
การรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของนิ่ว เช่น การทานยาสลายนิ่ว การส่องกล้องเพื่อกรอนิ่ว การสลายนิ่วโดยใช้คลื่นกระแทกหรือการผ่าตัด โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะป้องกันได้ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะควรดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อไม่ให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นเกินไป ไม่กลั้นปัสสาวะ เลี่ยงการทานอาหารที่ทำให้เกิดนิ่ว หรือหากสังเกตว่ามีอาการปัสสาวะผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยโดยด่วนก่อนที่อาการจะเป็นมากกว่าเดิม และทำให้ยากต่อการรักษา
** นิ่วในกระเพาะปัสสาวะควรรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะนิ่วในกระเพาะปัสสาวะสามารถลุกลามทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรังได้ ซึ่งโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรังเป็นโรคที่ยากต่อการรักษาให้หายขาด ทั้งยังทำให้รู้สึกไม่สบายตัว หรือเจ็บอวัยวะเพศขณะปัสสาวะ นอกจากนี้นิ่วยังมีส่วนทำให้การทำงานของไตหนักขึ้นจนไตทั้ง 2 ข้างอาจเสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้การขับของเสียลำบาก หรืออาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้