นายภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล พร้อมด้วย นายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงาน และธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "แสวงหาโอกาสร่วมกันในการจัดหาพลังงาน Renewable Energy (RE) ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า" ระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และบริษัท มิตรผล ไบโอ - เพาเวอร์ จำกัด ณ ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ชั้น 23 อาคาร LED การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่
PEA ร่วมมือกับ บริษัท มิตรผล ไบโอ - เพาเวอร์ จำกัด เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการดำเนินการเป็นผู้จัดหาและจำหน่าย Renewable Energy ผ่านระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า รวมถึงรูปแบบการซื้อขายแลกเปลี่ยน Renewable Energy Certificates (RECs) หรือ Energy Attributed Certificates (EACs) รูปแบบอื่นๆ หรือ Carbon Credits รวมถึงรูปแบบธุรกิจ
ที่เกี่ยวเนื่อง
นายภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า การแสวงหาโอกาสในการจัดหาพลังงาน Renewable Energy (RE) ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ต้องการซื้อขายพลังงานสะอาดในประเทศไทย โดยเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการทางด้านพลังงานของผู้ใช้ไฟฟ้า รวมถึงลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางด้านพลังงานอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจขององค์กร คือ จัดหา ให้บริการพลังงานไฟฟ้า และดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า PEA ในฐานะองค์กรที่กำกับดูแลและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านพลังงาน ได้เล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการซื้อขายพลังงานสะอาด เช่น การเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และการสร้างแรงดึงดูดกลุ่มธุรกิจจากต่างประเทศที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดมาลงทุนและสร้างฐานการผลิตในประเทศไทยต่อไป ซึ่งนับได้ว่าความร่วมมือนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศมีการยกระดับทางเศรษฐกิจและสามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon neutrality ในปี 2050 และ Net zero emissions ภายในปี 2065 ได้ต่อไป
นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า "กลุ่มมิตรผล ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 ผ่าน 6 แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การทำเกษตรสมัยใหม่ตัดอ้อยสด ลดการเผา ที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและปัญหาการเกิดไฟไหม้บริเวณใกล้กับสายส่งของการไฟฟ้าฯ รวมถึงการผลิตและใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต ซึ่งกลุ่มมิตรผลได้พัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี ทำให้วันนี้เราเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลรายใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากวัสดุในภาคเกษตรของไทย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือแสวงหาโอกาสร่วมกันในการจัดหาพลังงาน Renewable Energy (RE) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในวันนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับการสร้างความยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสามารถพิชิตเป้าหมาย Net Zero ได้"
ความร่วมมือระหว่าง PEA และ บริษัท มิตรผล ไบโอ - เพาเวอร์ จำกัด ในครั้งนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่จะช่วยยกระดับให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่หมุนเวียนผลิตได้ในประเทศไทย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะวิกฤติโลกร้อน
บุคคลในภาพ (ซ้าย - ขวา)
กลุ่มมิตรผล