สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด เตรียมขยายการให้บริการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายในวันเสาร์ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวม 117 สำนักงานทั่วประเทศ หลังทดลองเปิดให้บริการนำร่องในพื้นที่ 9 จังหวัดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง ลดภาระค่าใช้จ่ายและการขาดรายได้หากต้องหยุดงานเพื่อใช้บริการในวันทำการปกติ เริ่มวันเสาร์ที่ 24 กันยายนนี้เป็นต้นไป
นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุด โดยสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน หรือ สคช. ได้จัดทำโครงการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในวันหยุดราชการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง โดยเปิดให้บริการด้านคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายที่เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในวันเสาร์ ระหว่างเวลา 08.30 - 16.30 น. ณ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด (สคชจ.) นำร่องใน 9 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ พิษณุโลก ราชบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานอัยการภาคและมีประชาชนต้องการใช้บริการเป็นจำนวนมาก พร้อมขยายเวลาการให้บริการสายด่วนปรึกษากฎหมาย 1157 เพิ่มเติม ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมานั้น
จากผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 มีผู้มารับบริการในปริมาณมากพอสมควรและประชาชนที่มาใช้บริการมีความพึงพอใจ จึงเห็นชอบให้ สคช. ขยายการดำเนินงานเปิดให้บริการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในวันเสาร์ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในส่วนกลาง 5 สำนักงาน และในส่วนภูมิภาคทั้ง สคชจ. และ สคชจ.สาขา จำนวน 112 สำนักงาน รวมทั้งสิ้น 117 สำนักงานครอบคลุมทุกพื้นที่ เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2565 เป็นต้นไป อันจะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ไม่สามารถมารับบริการได้ในวันเวลาทำการปกติ
ด้าน นายชัยพร เกริกกุลธร อธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน กล่าวว่า การเปิดทำการเพื่อให้บริการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในวันเสาร์ เป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันหากต้องหยุดงานหรือลางานมาเพื่อติดต่อขอใช้บริการก็อาจจะสูญเสียรายได้ในวันดังกล่าว หรือบางคนที่เป็นผู้สูงอายุไม่สามารถเดินทางมาเองได้ก็ต้องรอให้ลูกหลานที่ทำงานในวันธรรมดาพามา หรือกรณีที่ทำงานอยู่คนละจังหวัดเดินทางไม่สะดวก การเปิดให้บริการในวันเสาร์จึงเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอีกทางหนึ่ง
สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2565 ในพื้นที่นำร่อง 9 จังหวัด มีผู้มาใช้บริการจำนวน 980 ราย แบ่งเป็น งานคุ้มครองสิทธิทางศาล อาทิ การร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก, การร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนสาบสูญ, การร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ/เสมือนไร้ความสามารถ และอื่นๆ จำนวน 390 เรื่อง งานให้คำปรึกษาทางกฎหมาย จำนวน 539 เรื่อง การช่วยเหลือประนอมข้อพิพาทและไกล่เกลี่ยทั่วไป จำนวน 15 เรื่อง การช่วยเหลือทำนิติกรรมสัญญา จำนวน 1 เรื่อง การช่วยเหลืออรรถคดี จำนวน 2 เรื่อง และการช่วยเหลืออื่นๆ อีกจำนวน 33 เรื่อง โดยมีการสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการ (ไม่รวมสายด่วนปรึกษากฎหมาย 1157) จำนวน 670 คน เป็นพนักงาน ลูกจ้างบริษัทเอกชน มากที่สุด จำนวน 196 คน รองลงมาเป็นผู้ประกอบการหรือประกอบธุรกิจส่วนตัว 161 คน, ประกอบอาชีพข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 150 คน, ประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น เกษตรกร แม่บ้าน ค้าขาย จำนวน 146 คน และนักเรียนนักศึกษา จำนวน 20 คน ช่วยให้ประชาชนไม่ขาดรายได้กรณีที่ต้องหยุดงานเพื่อมารับบริการในวันทำการปกติ ลดค่าใช้จ่ายในค่าเดินทางได้ถึง 354,825 บาท และประชาชนผู้รับบริการมีความพึงพอใจมากสุดถึงร้อยละ 86
ทั้งนี้ การเปิดให้บริการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในวันหยุดราชการ ในวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. จะขยายการให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งสำนักงานใน ส่วนกลางและสายด่วนปรึกษากฎหมาย 1157 จำนวน 5 สำนักงาน และในส่วนภูมิภาคทั้ง สคชจ. และ สคชจ.สาขา จำนวน 112 สำนักงาน รวมทั้งสิ้น 117 สำนักงาน โดยมีพนักงานอัยการ เจ้าพนักงานคดีหรือนิติกร เจ้าหน้าที่ธุรการ และทนายความอาสาซึ่งประจำอยู่แต่ละสำนักงานเป็นผู้ให้บริการ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2565 เป็นต้นไป