จุฬาฯ ร่วมกับ xLab Digital เปิดหลักสูตร "The Data Master" เร่งผลิตนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล รองรับความต้องการของตลาดทั่วโลก

ข่าวทั่วไป Monday September 26, 2022 09:22 —ThaiPR.net

จุฬาฯ ร่วมกับ xLab Digital เปิดหลักสูตร

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับ xLab Digital บริษัทในกลุ่ม บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ iBOTNOI เปิดหลักสูตร "The Data Master" หลักสูตรปั้นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientists) สอนตั้งแต่ต้นจนหางานให้ การันตีจากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเติมเต็มการขาดแคลนบุคลากรสาขานี้ในประเทศไทย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย xLab Digital บริษัทในกลุ่ม บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ iBOTNOI ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในหลักสูตร "The Data Master" หรือหลักสูตรการเรียนการสอนเร่งผลิตและพัฒนานักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2565 ณ PLEARN Space ชั้น 1 อาคารเปรมบุรฉัตร จุฬาฯ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ รวบรวมจุดแข็งในเชิงวิชาการของจุฬาฯ ผสานเข้ากับประสบการณ์จริงจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพจากทีม iBOTNOI ผนวกกับความเชี่ยวชาญภาคธุรกิจจาก xLab Digital

สำนักสถิติแรงงานสหรัฐฯ คาดว่าจำนวนนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลมีแนวโน้มที่จะโตถึง 31% ในช่วงทศวรรษนี้ และจะมีการเติบโตมากกว่าสาขาอาชีพอื่นๆ ในช่วงปี 2565-2572 ซึ่งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยคาดว่าจะมีบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ภายในปี 2570 ในขณะที่ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลรองรับในตลาดจำนวนไม่ถึง 10% ของความต้องการ ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่ตลาดต้องการสูงสุดอาชีพหนึ่งในประเทศไทย

หลักสูตร "The Data Master" เปิดโอกาสให้ผู้เรียนในทุกระดับได้เก็บเกี่ยวความรู้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนกระทั่งการนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจต่างๆ ด้วยหลักสูตรที่เข้มข้นจำนวน 14 สัปดาห์ ความโดดเด่นของหลักสูตรนี้คือ ผู้เรียนจะได้เข้าฝึกงานกับภาคเอกชน 3 เดือน ได้เรียนรู้ภายใต้คำแนะนำจากนักวิทยาศาสตร์ เชิงข้อมูลมืออาชีพ และได้รับเงินเดือนเป็นค่าตอบแทน พร้อมรับโอกาสในการเข้าทำงานกับบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศอีกด้วย

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยินดีสนับสนุนและพร้อมที่จะร่วมมือกับทั้งสองพันธมิตรในการเปิดหลักสูตร "The Data Master" ครั้งนี้ ด้วยการทำงานภายใต้ CU NEX ซึ่งเป็นโครงการที่ตั้งใจผลักดันให้จุฬาฯ เป็น Digital University ที่มีเป้าชัดในการนำเทคโนโลยีมาใช้จริงให้เกิดประโยชน์กับนิสิตและบุคลากร และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือกับพันธมิตรในภาคเอกชนจะช่วยนำประสบการณ์จริงในโลกธุรกิจมาเชื่อมกับความรู้ทางวิชาการจากจุฬาฯ พัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อผลิต Data Scientists ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและรองรับความต้องการของตลาดไทยและตลาดโลกได้จริง"

ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BOTNOI Group กล่าวว่า "หลักสูตร The Data Master นับเป็นภารกิจระดับประเทศที่จะช่วยปลูกต้นกล้าให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การเรียนรู้ในแต่ละคอร์สเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการที่ครบวงจรที่ออกแบบการสอนให้ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานวิทยาศาสตร์ข้อมูล ทำให้ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลมาก่อน นอกจากนี้ การเรียนรู้จากการฝึกงานในภาคเอกชนจริงๆ จะทำให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนและสามารถนำทักษะดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ได้จริง รวมถึงการสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคต สำหรับรูปแบบการเรียนจะเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้สอนและผู้เรียนผ่านการทำโปรเจคและเวิร์คช็อปทั้งออฟไลน์และออนไลน์ จุดเด่นของหลักสูตรนี้คือผู้เรียนมีโอกาสได้รับเข้าทำงานในฐานะนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลในบริษัทชั้นนำผ่านเครือข่ายของทีม BOTNOI อีกด้วย"

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารxLab Digital Company Limited บริษัทในกลุ่ม บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "การเปิดหลักสูตร "The Data Master" ในครั้งนี้ บริษัทฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคคลากรด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีบทบาทสำคัญมากต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาและการตัดสินใจ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการพัฒนาธุรกิจ สินค้า และการบริการต่างๆ รวมทั้งการแสดงแนวโน้มและการคาดการณ์ต่างๆ โดยการสรุปข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านั้นจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบนำผลลัพธ์ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก ในขณะที่หลาย ๆ ภาคอุตสาหกรรมไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศไทย"

ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองอธิการบดี ด้านการวางและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรม และพันธกิจสากล จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า "ในอนาคตจุฬาฯ จะเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจเพิ่มพูนความรู้และทักษะต่างๆ โดยเรียนรู้ร่วมกับอาจารย์จุฬาฯ พร้อมทั้งได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากหลักสูตรและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่จุฬาฯ จะพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนนิสิตจุฬาฯ เองก็จะมีหลักสูตรที่ไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย การเรียนหลักสูตร 4 ปี หรือ 6 ปีในหลักสูตรอาจจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของการทำงานที่เปลี่ยนไป เราต้องผลิตบัณฑิตให้ทันกับความต้องการของอุตสาหกรรมหรือความต้องการของประเทศ นิสิตต้องการมีความรู้ด้านไหนก็เรียนด้านนั้น ซึ่งจุฬาฯ จะเพิ่มหลักสูตรใหม่ที่เป็นหลักสูตรที่ไม่จำกัดอายุผู้เรียน ตอบโจทย์ Life Long Learning โดยแพลตฟอร์ม CU NEX เองก็จะมีส่วนช่วยในการติดต่อกับหลักสูตร อาจารย์ และเป็นตัวช่วยในลงทะเบียนเรียนได้"

หลักสูตร "The Data Master" เปิดรับสมัครรอบแรกวันที่ 1 - 31 ตุลาคม 2565 เริ่มคลาสแรกวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 - 3 มีนาคม 2566 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3LEiGSl


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ