นักวิชาการด้านกฎหมาย ม.พะเยา เปิดตัวบทกฎหมาย แสดงความแปลกใจการพิจารณาดีลควบรวม ทรู - ดีแทค เหตุใด กสทช. กลับสงสัยในอำนาจของตนเองส่งกฤษฎีกาตีความ ชี้ทำสังคมไทยสับสน เชื่อองค์กรอิสระอื่น ๆ กำลังเฝ้ามองการทำงานอยู่
วันที่ 22 กันยายน ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และพะเยาทีวี จัดเวทีสาธารณะ "ควบรวมทรู - ดีแทค" เพิ่มทางเลือกหรือสร้างภาระให้ (ผู้บริโภค) พะเยา ที่ห้องศาลจำลอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวเปิดเวทีถึงสาเหตุที่องค์กรของผู้บริโภคออกมาคัดค้านการควบรวมกิจการโทรคมนาคม
อาจารย์ปิยอร เปลี่ยนผดุง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวถึงการตีความกฎหมาย การใช้กฎหมาย และสถานะขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในกรณีการควบรวมกิจการทรู - ดีแทค ว่า กระบวนการที่ผ่านมามีความพยายามส่งเรื่องไปให้สำนักง่านคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ มองว่า เป็นเรื่องค่อนข้างแปลกที่กสทช.กลับสงสัยในอำนาจของตนเอง
"กระบวนการที่เราเห็นส่งผลกระทบต่อความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช. ค่อนข้างมาก กสทช. ไม่เข้าใจอำนาจของตนเองตามกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่มีอำนาจพิจารณาการควบรวมกิจการ มีอำนาจออกประกาศต่าง ๆ และมีอำนาจหน้าที่ปกป้องและรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น การที่ กสทช. โยนเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ ทำให้สังคมไทยยิ่งจะสับสน หากอนาคตเกิดดีลลักษณะนี้ขึ้นอีก เราจะต้องทำอย่างไรกัน จะปล่อยให้ผู้ประกอบการตกลงกันไปก่อน แล้ว กสทช. แค่เป็นนายทะเบียน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง" อาจารย์ปิยอร ระบุ
อาจารย์ปิยอร ชี้ว่า ในอนาคตหากปล่อยให้มีการควบรวมกิจการ ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนเกิดขึ้น การมีคู่แข่งน้อยรายในตลาด ไม่เพียงแต่กระทบราคาค่าบริการเท่านั้น แต่ตั้งคำถามว่าจะมีหน่วยงานใดสามารถกำกับดูแลเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี สัญญาณโทรศัพท์ และการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้น ราคาที่สังคมต้องจ่ายกับกรณีการควบรวมทรู - ดีแทค ไม่ได้มีเพียงค่าโทรศัพท์ที่แพงขึ้น แต่มีเรื่องอื่น ๆ แฝงอยู่อีกมากมาย
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กฤษฎา ใจแก้วทิ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่ ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีธุรกิจอื่นที่มีองค์กรอิสระกำกับดูแล ทั้งการประกันภัย พลังงาน การเงินการธนาคาร ฉะนั้น องค์กรอิสระอื่น ๆ กำลังเฝ้ามองการทำงาน กสทช. จากกรณีควบรวมดังกล่าวว่า การตัดสินใจเป็นไปในทิศทางใด จะเอื้อกับทุนหรือไม่
"การที่เรามองว่าการมีคู่แข่งที่สูสีกันน่าจะแข่งขันกันในตลาดเกิดขึ้น แต่สังคมไทยอาจเจอตลกร้ายก็เป็นได้ถ้าหากผู้ประกอบการที่เหลือสมรู้ร่วมคิดกัน (Cartel) ขณะที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ก็เข้ามากำกับดูแลไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจโดยตรงของ กสทช." ผศ.กฤษฎา ระบุ
สำหรับการฟ้อง กสทช. ในข้อหาผิดตามมาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผศ.กฤษฎา มองว่า เป็นเรื่องการพิสูจน์ โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมใช้ระยะเวลานานกว่าจะมีคำพิพากษา ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะ และเฝ้าติดตามมาตรการป้องกันการผูกขาดที่จะออกมาหลังจากนี้
ผศ.กฤษฎา ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า การควบรวมกิจการทรู - ดีแทค ไม่อยากให้ผู้บริโภคมองแค่เรื่องค่าบริการ หรือการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล การถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าจากการควบรวมกิจการระหว่าง 2 บริษัทด้วย ส่วน พันธวัช ภูผาพันธกานต์ นักวิชาการอิสระ มองว่า ในอดีตกิจการโทรคมนาคมเป็นระบบผูกขาด เห็นได้จากการที่ผู้บริโภคต้องซื้อโทรศัพท์มือถือและเสียค่าบริการสูงมาก ต่อมาเมื่อมีคู่แข่งเข้ามาในตลาด จึงเกิดการแข่งขัน ราคาค่าบริการถูกลง ธุรกิจโทรคมนาคมกลายเป็นการค้าเสรี แต่หาก กสทช. อนุญาตให้ทรู - ดีแทคควบรวมกิจการเกิดขึ้น เหลือผู้ประกอบการน้อยราย หมายความว่า สังคมไทยเรากำลังย้อนกลับไปยุคเดิม สู่ยุคผูกขาดอีกครั้ง
นักวิชาการอิสระ ชี้ว่า การที่ กสทช. ไม่เข้าใจในอำนาจของตนเอง ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความนั้น กสทช. รู้หรือกังวลกับการควบรวมกิจการครั้งนี้ว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมไทย การพิจารณาก็ต้องไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ อีกทั้งการควบรวมกิจการนี้ไม่เพียงเป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคม 2 ค่ายมารวมกันเท่านั้น แต่คือความพยายามผูกขาดเชิงโครงสร้าง
"ความท้าทาย คือ ทำอย่างไรให้รัฐที่อุปถัมภ์ทุน หันมาอุปถัมภ์ภาคประชาชน กสทช. ควรทบทวนตัวเอง วันนี้คุณอุปถัมภ์ใคร กิจการโทรคมนาคมไม่ใช่ร้านโชวห่วย มีผลกระทบคนเป็นสิบ ๆ ล้านคน คุณเด็ดดอกไม้ดอกเดียวก็สะเทือนถึงดวงดาว สุดท้ายผมเชื่อว่าอย่างไรเสีย กสทช. ก็อนุญาตให้ควบรวมแบบมีเงื่อนไข รัฐเลือกจะอยู่ข้างทุน ฉะนั้นหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภค คือการจัดเวทีเพื่อให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรอง สร้างดุลยภาพทางอำนาจให้เกิดขึ้น" นักวิชาการอิสระ กล่าว
นักวิชาการอิสระ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอในเรื่องนี้ ได้แก่ 1. ถ้าอนุญาตให้ควบรวมกิจการ อยากเห็นรัฐยึดโยงผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก โดยสร้างเงื่อนไขเพื่อลดผลกระทบ และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดในระยะยาว ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด 2. กสทช. ต้องแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุคสมัย และ 3. รัฐต้องจัดการเรื่องนี้ตามหลักนิติธรรม และยังมีข้อเสนอให้ภาคประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรคลื่นความถี่มีส่วนร่วมในการกำหนดเงื่อนไข และให้ภาคประชาชนยื่นข้อเสนอให้ กสทช. หากท้ายสุดมีการอนุญาตให้ควบรวมกิจการเกิดขึ้น
ด้าน ต่วนกฤษ จันทนะ ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภคจังหวัดพะเยา และกลุ่มผู้เสียหายเสาสัญญาโทรศัพท์ ตำบลน้ำแวน แสดงความเป็นห่วงการควบรวมกิจการด้านโทรคมนาคม ระหว่างทรู - ดีแทค โดยเฉพาะการแข่งขันทางการตลาดที่จะเหลือผู้เล่นในตลาดน้อยราย เหลือ 2 เจ้าใหญ่ ในอนาคตค่าบริการอาจจะแพงขึ้น ส่วนการอนุญาตให้ควบรวมกิจการ แล้วกสทช.มากำหนดเงื่อนไขตามหลังนั้น ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค จังหวัดพะเยา แสดงความไม่มั่นใจว่า กสทช. จะรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภคได้จริง ทั้งการกำกับดูแล และการควบคุมผู้ประกอบการที่เหลือเพียง 2 รายในประเทศไทย
สุดท้าย ว่าที่ร้อยตรีอภิสิทธิ์ ชำนาญยา หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา กล่าวถึงการควบรวมกิจการ ทรู -ดีแทคครั้งนี้จะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดมีผู้เล่นน้อยราย หวั่นเรื่องของค่าบริการที่จะสูงขึ้น และการพัฒนาเสาสัญญาณ ซึ่งการขับเคลื่อนขององค์กรผู้บริโภคหลังจากนี้ คือ การสร้างความตื่นรู้ให้กับผู้บริโภคในจังหวัดพะเยาที่มีกว่า 4 แสนคน ได้เข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะทำให้ผู้บริโภคตื่นรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการควบรวมทรู - ดีแทค และหาก กสทช. อนุญาตให้ควบรวมเกิดขึ้นจริง ๆ เครือข่ายฯ จะมีข้อเสนอและมาตรการที่เสนอต่อ กสทช. เพื่อให้ 2 บริษัทนี้คำนึงถึงประโยชน์ผู้บริโภคมากที่สุด