กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--กทม.
กทม. ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เสนอข้อมูลข่าวสารและบริการของ กทม. ผ่านจอเอทีเอ็ม ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกือบ 2,000 แห่ง เริ่ม 28 มี.ค.นี้ พร้อมบริการรับชำระค่าภาษีผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร
นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าว “การประชาสัมพันธ์การให้บริการของกรุงเทพมหานครผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)” ร่วมกับ นางศรีประภา พริ้งพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจภาครัฐ และนายอัสนี ทรัพยวณิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารกลุ่มผลิตภัณฑ์บุคคลและส่งเสริมการตลาด บมจ.ธนาคารกรุงไทย ซึ่งกรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจาก บมจ.ธนาคารกรุงไทย ในการให้บริการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของกรุงเทพมหานครผ่านทางตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,974 ตู้ ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารรวมถึงการให้บริการรูปแบบใหม่ของกรุงเทพมหานคร อาทิ ศูนย์บริการกรุงเทพมหานคร (Bangkok Service Center), จุดบริการด่วนมหานคร (BMA Express Service) , รถบริการงานทะเบียนเคลื่อนที่ (Mobile Service) รวมถึงบริการรูปแบบอื่นๆ และกิจกรรมต่างๆ ของกรุงเทพมหานครที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านหน้าจอเอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครด้วยดีเสมอมา โดยสรรหาบริการรูปแบบต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน อาทิ การให้บริการรับชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีป้าย ผ่านระบบ Teller Payment ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยประชาชนสามารถนำใบแจ้งการประเมินพร้อมใบแจ้งการชำระภาษีที่มีบาร์โค้ตไปชำระเงินได้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ คิดค่าธรรมเนียมรายการละ 10 บาท ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้ประชาชนต้องเดินทางไปชำระเงินที่สำนักงานเขตหรือที่กองการเงิน สำนักการคลัง กรุงเทพมหานครเท่านั้น
นอกจากนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ยังเข้าร่วมโครงการ “บัญชีเงินออม เพื่อชีวิตพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ” ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างวินัยการออมให้กับประชาชน อันเป็นการแสดงถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต