กรมวิชาการเกษตร รุกตรวจแหล่งผลิตพืช GAP ปลื้มตรวจแล้วกว่า 1 แสนแปลงทะลุเป้าปี 65 ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง มะพร้าวอ่อน ส้มโอ มีแนวโน้มได้รับรองสูงขึ้นทุกปีสอดคล้องปริมาณส่งออก พร้อมเตรียมปรับกระบวนการตรวจรับรอง ออกใบรับรองแหล่งผลิตพืชให้เกษตรกรได้เร็วขึ้น จาก 65 วัน เป็น 42 วัน
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตามนโยบายของนางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรเร่งตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช GAP เพื่อผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ปลอดศัตรูพืช คุณภาพถูกใจผู้บริโภค มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร ซึ่งการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช เป็นแนวทางการทำการเกษตร ที่จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ผลผลิตสูงคุ้มค่าต่อการลงทุน การผลิตจะเป็นการผลิตที่ปลอดภัยทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภค มีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางเกษตร และไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
กรมวิชาการเกษตร เป็นส่วนราชการในกลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการผลิต มีพันธกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดและกำกับดูแลมาตรฐานระบบการผลิตและผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต พัฒนาระบบตรวจรับรองสินค้าการเกษตรด้านพืชให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เกิดการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถแข่งขันและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในตลาดโลกได้
กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่จัดทำระบบการตรวจประเมินการผลิตพืชให้สอดคล้องตามข้อกำหนดมาตรฐานสากล รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนและติดตามการดำเนินงานการตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP พืช โดยมีสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 ทำหน้าที่ตรวจประเมินและและพิจารณาตัดสินให้การรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ซึ่งเกษตรกรที่ผ่านได้ใบรับรองแหล่งผลิตพืช GAP จะเป็นการรับรองกระบวนการผลิตที่ได้ผลิตผลปลอดภัย ปลอดจากศัตรูพืชและคุณภาพเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค
ผลการดำเนินงานในปี 2565 มีเป้าหมายในการดำเนินการตรวจสอบแหล่งผลิตพืชจำนวน 100,000 แปลง ตรวจได้ 123,764 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 539,600 ไร่ ซึ่งเกินเป้าหมายไปแล้ว 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลการตรวจติดตามและตรวจต่ออายุแปลง GAP มีเป้าหมายตรวจติดตาม จำนวน 15,430 แปลง ตรวจได้ 16,334 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 95,440 ไร่ เกินเป้าหมายไปแล้ว 5.5 เปอร์เซ็นต์ เป้าหมายการตรวจต่ออายุ 48,736 แปลง ตรวจได้ 50,121 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 180,732 ไร่ เกินเป้าหมายไปแล้ว 3 เปอร์เซ็นต์
แปลง GAP ที่ได้การรับรอง อาทิเช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง มะพร้าวอ่อน ส้มโอ มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการส่งออกพืชดังกล่าวที่พบว่ามีปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปีด้วยตามเงื่อนไขการส่งออกสินค้าเกษตรต้องมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางเกษตรที่ดีสำหรับพืช หรือ GAP พืช
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมในปี 2566 กรมวิชาการเกษตรมีการปรับปรุงกระบวนการตรวจรับรอง เพื่อให้ดำเนินการออกใบรับรองแหล่งผลิตพืชให้กับเกษตรกรได้รวดเร็วขึ้น จาก 65 วัน เป็น 42 วัน และเพิ่มศักยภาพในการตรวจพืชที่มีศักยภาพในการส่งออกเพื่อให้เพียงพอต่อการส่งออกตามเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่ส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรจะมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบถึงความสำคัญของ GAP เน้นการให้บริการเชิงรุกผ่านโครงการคลีนิคเกษตรเคลื่อนที่ และการบรูณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรต่อไป