รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เผยความสำเร็จของโครงการวิจัย "การพัฒนาอัลกอริทึมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโคนม" ที่ได้รับการจัดสรรทุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมโคนมไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาโดย Senovate AI สตาร์ทอัพสัญชาติไทย หวังครองแชมป์ส่งออกผลิตภัณฑ์นมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโครงการนี้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนากระบวนการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลหรืออัลกอริทึม (Algorithm) จากอุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหว (Activity meter) เพื่อตรวจติดตามและจำแนกการเป็นสัดและพฤติกรรมอื่นๆของโคนมด้วยได้อย่างถูกต้อง แม่นยำแทนแรงงานคน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคนมของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี โครงการนี้มีนักวิจัยได้แก่ รศ.นสพ.ดร.ชัยเดช อินทร์ชัยศรี ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ นสพ.พงศนันท์ ขำตา และ ดร.เดวิด มกรพงศ์ บริษัท เสโนเวท เอไอ จำกัด (Senovate AI) สตาร์ทอัพไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.นสพ.ดร.ชัยเดช อินทร์ชัยศรี กล่าวว่าในปี 2568 ประเทศไทยได้กำหนดให้มีการเปิดการค้าเสรีสินค้านมและครีม นมผงขาดมันเนย และเครื่องดื่มนมภายใต้ความตกลงการเปิดเสรีทางการค้าไทย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (TAFTA - TNZFTA) ทำให้อุตสาหกรรมโคนมมีความท้าทายจากการนำเข้าสินค้านมเหล่านี้จำนวนมากจากทั้งสองประเทศ อีกทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมของประเทศไทยกว่า 70-80% เป็นเกษตรกรรายเล็กมีประสิทธิภาพในการผลิตต่ำและต้นทุนสูงกว่าคู่แข่ง แต่ยังมีโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์นมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโยเกิร์ต ดริงกิ้งโยเกิร์ต และนมยูเอชที ไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราภาษีนำเข้าของประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ที่ 0% และประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยไทยถือเป็นศูนย์กลางในการส่งออกอันดับที่ 2 ของโลก รองลงมาจากสวิตเซอร์แลนด์ โดยส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยัง เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ และฮ่องกง รวมถึงจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่และมีความต้องการสูง หากต้องการให้อุตสาหกรรมโคนมไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไปในอนาคต ต้องพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบให้แข่งขันได้ในตลาด
นสพ.พงศนันท์ ขำตา นักวิจัยซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดการฟาร์มโคนมและการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการสุขภาพและจัดการระบบสืบพันธุ์โคนม กล่าวว่าปัญหาเรื่องการผสมพันธุ์และคลอดลูกของโคนมเป็นอุปสรรคที่ส่งผลกระทบและสร้างความสูญเสียต่อทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมโคนมในฟารม์ทุกประเภทมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้ทักษะการตรวจประเมินโคจากการใช้แรงงานคน ทำให้ขาดความแม่นยำ และเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย หากโคนมผสมติดช้าจะส่งผลต่อการผลิตน้ำนมจากแม่โค ดังนั้นต้องทำให้โคผสมติดได้เร็วขึ้น แต่ปัญหาการตรวจสอบการเป็นสัดของวัวโดยแรงงานคนนั้นค่อนข้างยาก เพราะส่วนใหญ่โคจะแสดงอาการตอนกลางคืน หากเจ้าของฟาร์มไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจนจะทำให้เสียโอกาสในการผสมพันธุ์วัว ประกอบกับสภาพอากาศเขตร้อนชื้นของไทยทำให้โคแสดงอาการเป็นสัดไม่ชัดเจน สังเกตอาการได้ยากยิ่งขึ้น การใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ในการจับอาการติดสัด สามารถเพิ่มความแม่นยำได้มากขึ้น โดยปัจจุบันในไทยมีบางบริษัทที่นำเซ็นเซอร์นี้มาใช้ในฟาร์มโคนมขนาดกลางขึ้นไปมากกว่า 100 แห่ง ด้วยภาระต้นทุนที่สูง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเพราะอัลกอริทึมของต่างชาติได้รับการออกแบบและพัฒนาตามสภาพอากาศในต่างประเทศ โดยพัฒนามาจากพฤติกรรมของโคนมที่ถูกเลี้ยงในสภาพอากาศเย็น รวมถึงการจัดการคอก การจัดการให้อาหารในไทยก็มีความแตกต่างจากต่างประเทศอย่างสิ้นเชิง เมื่อบ้านเรานำเข้ามาใช้ก็ต้องมาตั้งระบบใหม่ ปรับอัลกอริทึมและซอฟท์แวร์ต่างๆ ขณะเดียวกันในขณะที่เซ็นเซอร์ประเภทนี้มีราคาสูงแต่การซ่อมบำรุงรักษากลับค่อนข้างยากและต้องใช้ช่างเทคนิคฝึกอบรม ซึ่งเกษตรกรที่อยู่หน้างานอาจจะไม่เข้าใจ ประกอบกับฟังก์ชั่นของระบบใช้ภาษาอังกฤษและมีความซับซ้อนมาก ในบางฟาร์มมีความแม่นยำค่อนข้างต่ำเพียง 50-60% เท่านั้น ดังนั้น Senovate AI จึงพัฒนาเทคโนโลยีรวมถึงฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ให้อยู่ในบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเกษตรกรของไทยได้ใช้อย่างครบวงจร โดยพัฒนาอัลกอริทึมให้เหมาะสมกับการเลี้ยงโคในประเทศไทย โดยเพิ่มเติมข้อมูลความรู้เรื่องการผสมเทียม การรักษาวัวป่วย เป็นต้น ที่เหมาะกับผู้ประกอบการฟาร์มโคนมในไทยที่เป็นรายเล็กมากถึง 70-80% เซ็นเซอร์ติดตามพฤติกรรมโคสัญชาติไทยนี้ทำให้เกษตรลงทุนต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเซนเซอร์ชนิดอื่นๆ โดยการนำเซ็นเซอร์ไปติดที่บริเวณคอโคแต่ละตัว และรายงานผลผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ ทำให้ไม่จำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ
ดร.เดวิด มกรพงศ์ CEO Senovate AI กล่าวว่าแพลตฟอร์มนี้จะทำให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีบริหารจัดการปศุสัตว์ได้ภายในแพลตฟอร์มเดียว โดยพัฒนาจากเข้าใจพฤติกรรมเกษตรกรและบริบทในประเทศไทย โดยแพลตฟอร์มนี้เป็นรูปแบบโมเดลธุรกิจเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ที่ไม่ได้ให้บริการในรูปแบบของการขายขาดอุปกรณ์แต่เป็นบริการรายเดือน เช่นการให้บริการติดตั้งฟรี และชำระค่าบริการรายเดือนตามรูปแบบการใช้งาน โดยการบริการอัลกอริทึมนี้อาจจะเริ่มต้นจาก 30 บาทต่อตัวต่อเดือน แต่หากต้องการข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น เช่น ข้อมูลสภาพอากาศ โรคระบาด หรือหากเกษตรกรต้องการสัตวแพทย์ สัตวบาลในพื้นที่เข้าไปดูแลในฟาร์มโคนมให้ ก็จะมีค่าบริการเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจแบบ Sharing Economy มีการใช้ทรัพยากรที่อยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรและการจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ เวชภัณฑ์ต่างๆ คล้ายกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของโคนม เพื่อซื้อขายสินค้าต่างๆ ในกลุ่ม ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ในอนาคตจะมีการสร้าง e-learning ภายในแพลตฟอร์มให้กับเกษตรกร สัตวแพทย์ และสัตวบาลเข้ามาเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ พร้อมกับสร้างมาตรฐานการบริการให้ตอบโจทย์เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยได้อย่างยั่งยืน
ดร.เดวิด ได้ให้รายละเอียดถึงการตั้งเป้าผลประกอบการจากแพลตฟอร์มดิจิทัลการจัดการฟาร์มวัวนมว่า จากข้อมูลกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า ในปี 2565 คาดว่าจะมีจำนวนโคนมทั้งหมด 765,887 ตัว Senovate AI ตั้งเป้าผู้ใช้เซ็นเซอร์ติดตามวัวไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัว ประเมินรายได้ไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาทต่อปี ภายในต้นปี 2568 โดยเริ่มที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรให้หันมาใช้เทคโนโลยีในการตรวจเช็คอาการติดสัด หรืออาการอื่นๆ แทนแรงงานคน หลังจากที่มีผู้ใช้เซ็นเซอร์เพิ่มมากจะทำให้การพัฒนาอัลกอริทึมแม่นยำมากขึ้น รวมถึงฟังก์ชั่นอื่นๆ เช่น การตรวจเช็ควัวป่วย การตรวจเช็คเซ็นเซอร์โคหลุดจากคอก การแจ้งเตือนเมื่อโคกำลังใกล้คลอด เป็นต้น ทำให้เทคโนโลยีมีความพร้อมและสมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะสามารถต่อยอดไปใช้ในการเลี้ยงปศุสัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น วัวเนื้อ เป็นต้น รวมถึงขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้ เป็นการติดอาวุธให้กับอุตสาหกรรมฟาร์มโคนมทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก้าวสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมภายในปี 2570 และในอนาคตฟาร์มโคนมในประเทศไทย หากมีการใช้แพลตฟอร์มระบบจัดการฟาร์มวัว ประมาณ 1 แสนตัว หรือประมาณ 20% จากจำนวนโคนมในประเทศไทย จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้ 1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2575 และหากสามารถสร้างฐานการใช้เทคโนโลยีไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ Senovate AI จะเป็น Unicorn ด้าน AI Technology ในอุตสาหกรรมเกษตรที่มาจากประเทศไทยเป็นรายแรก