กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำผลการดำเนินงานขับเคลื่อน BCG Model ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการขยะตาลเดี่ยวโมเดล (Tandiao Model) และปุ๋ยอินทรีย์เสริมแบคทีเรียละลายฟอสเฟต ร่วมประชาสัมพันธ์การจัดแสดงนิทรรศการ APEC 2022 สัญจร "APEC พร้อม ไทยพร้อม" ซึ่งได้รับเกียรติจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมนิทรรศการ โดย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะผู้บริหารร่วมต้อนรับ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ณ บริเวณโถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นิทรรศการ APEC 2022 สัญจร "APEC พร้อม ไทยพร้อม" ดำเนินงานภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ปี 2565 เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Economic Cooperation: APEC) ในปี พ.ศ. 2565 ของไทย และผลงานสำคัญของรัฐบาล โดยการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคจะมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ เข้าร่วมการประชุม ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ภายใต้หัวข้อหลักคือ OPEN. CONNECT. BALANCE. หรือ "เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" เพื่อเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน เชื่อมโยงในทุกมิติ เพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย และส่งเสริมการเจริญเติบโต ที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้าน ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ทั้งนี้ได้มีการปล่อยคาราวานรถนิทรรศการ APEC 2022 สัญจร ออกไปสู่ภูมิภาค ในวันที่ 28 กันยายน 2565 ณ กรมประชาสัมพันธ์ และจะมีการเปิดตัว ณ สำนักประชาสัมพันธ์เขต ทั้ง 8 เขตพร้อม ๆ กัน ในวันที่ 30 กันยายน 2565 เพื่อสร้างการรับรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย
ผลงานขับเคลื่อน BCG Model ของ วว. ที่นำมาร่วมจัดแสดงเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้
1.เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการขยะตาลเดี่ยวโมเดล (Tandiao Model) วว. โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม พัฒนาเป็นโครงการนำร่อง โดยร่วมดำเนินการกับ องค์การบริหารส่วนตำบลตาลเดี่ยว ชุมชนในพื้นที่ และจังหวัดสระบุรี เพื่อแก้ไขและลดปัญหาขยะชุมชน รวมถึงขยะพลาสติกที่เหลือทิ้ง มุ่งเน้นให้เป็นโครงการต้นแบบเพื่อนำผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการขยะชุมชน โดยนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่และเพิ่มมูลค่าขยะอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการแบบชุมชนมีส่วนร่วม สามารถสร้างรายได้และความยั่งยืนกลับคืนสู่ชุมชน มุ่งเน้นการเปลี่ยนขยะเพื่อสร้างรายได้ (Waste-to-Wealth) ประกอบด้วย เทคโนโลยีการคัดแยกและแปรรูปขยะพลาสติกเป็นวัตถุดิบรอบสองที่มีคุณภาพ การผลิตสารปรับปรุงดิน และผลิตภัณฑ์ชุมชนจากของเหลือทิ้ง เช่น ถ่านหอม 3 in 1 และการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste-to-Energy) ประกอบด้วย การผลิตเชื้อเพลิงขยะ (RDF5) เพื่อทดแทนถ่านหินและการผลิตพลังงานทดแทนชีวภาพจากน้ำชะขยะพร้อมระบบบำบัดน้ำเสีย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ดร.เรวดี อนุวัฒนา นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม โทร. 0 2577 9000