ฟิทช์ : ภาพรวมผลประกอบการของธนาคารไทยมีแนวโน้มดีขึ้นในปี 2551 ถึงแม้ว่ามีปัจจัยลบจากภายนอกประเทศ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 31, 2008 17:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ แสดงความเห็นว่าผลประกอบการของธนาคารไทยในปี 2550 ได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่สูงขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีใหม่และการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศอันมีผลมาจากความไม่มั่นคงทางการเมืองจากเหตุการณ์การปฎิวัติในเดือนกันยายน 2549 โดยธนาคารที่มีระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่ำนั้นได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งทำให้มีการรายงานผลประกอบการขาดทุนอย่างมากในบางธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ที่ต้องมีการเพิ่มทุนโดย ING Bank NV (ING) (อันดับเครดิต ‘AA’) ในเดือนธันวาคม 2550 อย่างไรก็ตาม หากความเสี่ยงทางภาวะเศรษฐกิจและการเมืองไม่ได้สูงมากจากระดับปัจจุบัน ฟิทช์มองว่าภาพรวมผลประกอบการของธนาคารไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2551 เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงและการเติบโตของสินเชื่อที่สูงขึ้น
วินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) และนักวิเคราะห์อาวุโสในส่วนสถาบันการเงินกล่าวว่า ผลประกอบการของธนาคารไทยทั้งระบบในปี 2550 นั้นอ่อนแอลง ถึงแม้ว่าธนาคารที่แข็งแกร่งบางธนาคารเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ยังคงสามารถรายงานผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารทั้งสามมีอันดับเครคิตสากลสกุลเงินต่างประเทศที่ ‘BBB+’ เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะอ่อนตัวลง แต่อัตราการเติบโตของการปล่อยสินเชื่อของธนาคารใหญ่ทั้งสามดังกล่าวมีอัตราที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มผู้บริโภครายย่อยและกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง มิลตันกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มในปี 2551 น่าจะดีขึ้นจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่คาดว่าจะลดลง และการเติบโตของสินเชื่อเนื่องจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นผู้บริโภค รายย่อยและการลงทุนที่เพิ่มจากภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินงาน โดยความเสี่ยงทางด้านสินเชื่อและสภาพคล่องได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ ความเสี่ยงในการลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Collateralized Debt Obligation หรือ CDO และตราสารที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อนประเภทอื่น และความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องอันเนื่องมาจากความไม่มั่นใจของผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้อื่น
ในความเห็นของฟิทช์ โดยภาพรวมธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศไทยนั้นมีสถานะการเงินที่ค่อนข้างมั่นคง และคาดว่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงทางด้านสินเชื่อและสภาพคล่องนี้ได้ BBL, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY มีการลงทุนในตราสารประเภท CDO ไม่มากนัก โดยมีสัดส่วนการลงทุนน้อยกว่า 6% ของระดับเงินทุน ถึงแม้ว่าฟิทช์คาดว่าธนาคารเหล่านี้จะมีการรายงานขาดทุนเพิ่มเติมจากการตั้งค่าเผื่อการปรับมูลค่าตลาดในการลงทุนในตราสารประเภท CDO อีกในไตรมาสแรกของปี 2551 ในขณะที่ธนาคาร ไทยธนาคาร (อันดับเครดิตสนับสนุนที่ 4) หนึ่งในธนาคารขนาดเล็ก ซึ่งต้องทำการเพิ่มทุนอีกครั้งในช่วงต้นปี 2551 เนื่องจากความเป็นไปได้ของการขาดทุนจำนวนมากจากการลงทุนในตราสารประเภท CDO เป็นธนาคารในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากปัจจัยลบในตลาดตราสารหนี้ประเภทแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ธนาคารในประเทศไทยมีการพึ่งพาการระดมทุนในตลาดต่างประเทศค่อนข้างต่ำ ในขณะที่การระดมทุนภายในประเทศทั้งทางด้านเงินฝาก การออกตราสารหนี้และการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ยังคงไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากสภาวะตกต่ำในตลาดการเงินต่างประเทศ
ในขณะที่ผลกระทบจากปัจจัยลบในตลาดการเงินต่างประเทศต่อภาคธุรกิจการเงินในประเทศจะค่อนข้างจำกัด ราคาน้ำมันที่สูง ค่าเงินบาทที่แข็งตัว และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีแนวโน้มว่าจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2551 อย่างไรก็ตาม การลงทุนจากทางภาครัฐบาลและภาคธุรกิจที่มากขึ้น และการฟื้นตัวในการใช้จ่ายของผู้บริโภครายย่อยนั้น จะสามารถช่วยลดทอนปัจจัยลบจากการชะลอตัวของภาคการส่งออกและคาดว่าจะช่วยรักษาระดับการเติบโตของ GDP ไว้ได้ที่ 5% ในขณะเดียวกัน คาดว่าธนาคาร จะมีการเร่งแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งคาดการณ์ว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะลดลงต่ำกว่า 5% ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งอาจทำให้ธนาคารมีผลขาดทุนจากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น แต่ฟิทช์มองว่าปัจจุบันธนาคารใหญ่เหล่านั้นมีระดับเงินทุนที่แข็งแกร่งและแนวโน้มของประกอบการ ที่ดี ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะรองรับผลขาดทุนเหล่านั้นได้ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์กล่าวว่าการเริ่มใช้เกณฑ์ Basel II อาจส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนในระบบลดลงในระดับหนึ่งภายในสิ้นปีนี้ ฟิทช์คาดว่า SCB, KBANK และ BBL จะยังคงสามารถรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งต่อไป ในขณะที่ BAY, TMB และ KTB น่าจะรายงานผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2551 เนื่องจากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงและการเติบโตในการปล่อยสินเชื่อ แนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่มีเสถียรภาพ และอาจมีการเพิ่มอันดับเครดิตในบางธนาคารได้
รายงานพิเศษเรื่อง ‘Thai Bank’s 2007 Results and Outlook 2008: Another Tough Year Amid Global Shocks’ จะเผยแพร่ทาง www.fitchratings.com
ติดต่อ
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759
ดรุณี เพียรมานะกิจ, กรุงเทพฯ +662 655 4752

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ