"ดนตรีบำบัด" (Music Therapy) ถือกำเนิดโดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Everett Thayer Gaston (พ.ศ.2444 - 2513) "บิดาแห่งดนตรีบำบัด" ผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญสู่การจัดตั้งหลักสูตรดนตรีบำบัดครั้งแรกของโลก และเป็นที่มาของ The American Music Therapy Association (AMTA) ที่ทำให้วิชาดนตรีบำบัดแพร่หลายไปทั่วโลก
อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงหลักสูตรดนตรีบำบัดในประเทศไทยที่มีมาตรฐาน ซึ่งมีเปิดสอนในระดับปริญญาโทที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปีพ.ศ.2552
หลักสูตรฯ ได้รับการพัฒนาขึ้นร่วมกับอาจารย์ที่เป็นนักดนตรีบำบัดวิชาชีพผู้ซึ่งได้รับการรับรองจาก The American Music Therapy Association (AMTA)
และในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา สาขาวิชาดนตรีบำบัดได้ร่วมส่งเสริมสุขภาวะให้กับประชาชนผ่านเสียงดนตรี ในรูปแบบของ "ดนตรีบำบัดออนไลน์" โดยนักศึกษาของหลักสูตรฯ ภายใต้การดูแลของคณาจารย์สาขาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำหลักสูตรดนตรีที่ได้รับรองมาตรฐานสถาบันแห่งความเลิศทางดนตรี จากสถาบันรับรองคุณภาพ MusiQuE ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขยายขอบเขตดนตรีบำบัดในทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างอย่างแท้จริงจึงได้ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลเตรียมเปิด "ศูนย์ดนตรีบำบัด" ให้เป็นคลินิกที่พร้อมให้บริการประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ
โดยจะเริ่มเปิดให้บริการเป็นแห่งแรกที่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ศาลายา ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลภายใต้การบริหารงานโดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล และจะยกระดับสู่การเป็น "Music Therapy Hub" แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า
อาจารย์วิพุธ เคหะสุวรรณ หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีบำบัดวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า"ดนตรีบำบัด" เป็น "การให้การบำบัด" (Therapy) ไม่ใช่"การรักษา" (Treatment) ในทางคลินิก "นักดนตรีบำบัด" (Music Therapist) จะต้องทำงานร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการใช้ดนตรีช่วยกล่อมเกลาจิตใจ และเพื่อตอบสนองตามความต้องการของผู้เข้ารับการบำบัดแต่ละบุคคลให้พร้อมออกไปดำเนินชีวิต รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ถือเป็นทักษะสำคัญยิ่งสำหรับนักดนตรีบำบัดที่จะต้องมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนดนตรี ด้วยหลักการที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ ความเชื่อมั่น และความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ต้องการการดูแลพิเศษ ผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงพักฟื้นหรือตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ตลอดจนผู้สูงวัย ฯลฯ หากได้รับการดูแลโดยใช้เสียงดนตรีที่เหมาะสม จะช่วยให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤติต่างๆ ไปได้
ซึ่งทักษะหรือความเชี่ยวชาญจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อได้ฝึกปฏิบัติจริง สาขาวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล จึงกำหนดให้นักศึกษาของหลักสูตรฯทุกรายต้องผ่านวิชา "Practicum" และ "Internship" ที่จะได้ฝึกงานและสัมผัสกับผู้ป่วยจริงก่อนสำเร็จการศึกษา
โดยหลักสูตรฯ จะไม่หยุดอยู่เพียงแค่ระดับปริญญาโท แต่ในอนาคตอันใกล้จะเปิดเพิ่มเติมในระดับปริญญาตรี เพื่อรองรับการผลิตบุคลากรที่ให้บริการทางดนตรีบำบัด และขยายผลสร้างเป็นเครือข่ายให้ประชาชนได้มีสุขภาวะที่ดีทั้งกายและใจ เป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติต่อไป ติดตามได้ที่ Facebook: Music Therapy Thailand
และติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
Cr: ภาพจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล