กรมวิชาการเกษตร ลงนาม MOU ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการดำเนินการตรวจรับรองประเมินโครงการ รับรองการคำนวณคาร์บอนเครดิตทางการเกษตรและป่าไม้ ดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด และประเมินคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร
นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน การลงนามความร่วมมือ ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร กับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและดำเนินการประเมินคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้คือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ในวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุม 314 กรมวิชาการเกษตร
การทำ MOU หรือ ลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว BCG (Bio-Circular-Green Economy) ให้เป็นกลไกที่สำคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ ความเข้าใจในความเสี่ยงที่ต้องรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบที่เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะนำไปสู่การพัฒนา ระบบการปลูกพืชและการผลิตสินค้าเกษตร และการจัดระเบียบวิธีในการประเมินโครงการในการที่จะเข้าร่วมประเมินคาร์บอนเครดิต และพัฒนางานวิจัยด้านการเก็บข้อมูลคาร์บอนเครดิตร่วมกันได้อีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด CDM (Clean Development Mechanism) การใช้คาร์บอนฟุตปริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่ตอนนี้เป็นประเด็นสำคัญ ในการส่งออกสินค้าเข้าสู่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การลงนามข้อตกลงความร่วมมือของกรมวิชาการเกษตรในครั้งนี้ นอกจากจะสามารถพัฒนาองค์ความรู้ ความเข้าใจ ในการปรับตัว ผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังเป็นการพัฒนา งานวิจัย กระบวนการการเก็บข้อมูล วิธีการในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตปริ้นท์ โดยกรมวิชาการเกษตรจะร่วมส่งเสริมและสนับสนุนทำแผนความร่วมมือกับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ
กรมวิชาการเกษตร มีเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคลากรเพื่อให้สามารถเป็นผู้รับรองการตรวจประเมินโครงการ และรับรองการคำนวณคาร์บอนเครดิตด้านการเกษตร รวมถึงพัฒนาและนำพื้นที่ปลูกพืชที่มีครอบคลุมอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศของกรมวิชาการเกษตร ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ เพื่อเป็น "คาร์บอนเครดิต" ของหน่วยงาน ซึ่งในระยะแรกจะดำเนินการในพืชนำร่องกลุ่มไม้ผล ปาล์มน้ำมัน และยางพารา โดยจะดำเนินการให้ครอบคลุมพืชอื่นๆ ในระยะถัดไป รวมทั้งจะขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายภาคการเกษตรที่มีศักยภาพต่อไป