การทำสาธารณกุศลในภูมิภาคเอเชีย (Asian Philanthropy) กำลังอยู่ในช่วงความเปลี่ยนแปลง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านความมั่งคั่งส่วนบุคคลไปสู่เจ้าของความมั่งคั่งรุ่นใหม่ ซึ่งจะพิจารณาผลกระทบด้านสังคมในการบริหารสินทรัพย์และธุรกิจของพวกเขา ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่นี้ต้องการทำสาธารณกุศล โดยมีเป้าหมายแบบผสมผสานความมั่งคั่งกับการทำสาธารณกุศลที่ได้ผลตอบแทนรวดเร็วแบบ Moonshot โดยหวังที่จะจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ
สิงคโปร์ - Credit Suisse Philanthropists Connect จัดขึ้นเป็นปีที่ 11 ได้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเครดิต สวิส ในการสนับสนุนการทำสาธารณกุศลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปีนี้งานดังกล่าวจัดขึ้นที่โรงแรมราฟเฟิลส์ ประเทศสิงคโปร์ โดยได้รับเกียรติจากมาดามฮาลิมา ยาขอบ (Halimah Yacob) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ และแขกกว่า 150 คนจากทั่วโลก รวมถึงผู้นำทางความคิดระดับโลกและผู้เชี่ยวชาญในงานด้านสาธารณกุศลและการไม่แสวงผลกำไรเข้าร่วมงาน
งานปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นในหัวข้อ "From Bringing Wealth to Purpose To Bringing Purpose to Wealth" ย้ำให้เห็นถึงการเปลี่ยนกรอบความคิดในกลุ่มนักกิจกรรมสาธารณกุศลรุ่นใหม่ที่มองว่าการทำสาธารณกุศลเป็นพันธกิจที่สำคัญ โดยนักกิจกรรมสาธารณกุศลรุ่นใหม่เหล่านี้พยายามบูรณาการวัตถุประสงค์เข้ากับการบริหารความมั่งคั่งให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และแสวงหาวิธีที่จะร่วมกันสร้างทางออกด้านสังคมด้วยการผสมมุมมองด้านการสร้างผลกระทบต่อสังคมเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ยกระดับกิจกรรมสาธารณกุศลให้ครอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้น
Benjamin Cavalli, Head of Wealth Management Asia Pacific และ APAC Sustainability Leader ของเครดิต สวิส กล่าวว่า "เราคาดว่าปริมาณความมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดจะถูกเปลี่ยนผ่านไปยังคนรุ่นต่อไปในช่วงทศวรรษหน้า แม้ว่าพลังของกิจกรรมสาธารณกุศลจะเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นต่างๆ แต่เป้าหมายพื้นฐานของการสนับสนุนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมที่มีความต้องการด้านการเงินมากที่สุดก็ยังคงเหมือนเดิม เราเฝ้าคอยที่จะได้เห็นว่างาน Philanthropists Connect รวมไปถึงเอกสาร และโปรแกรม NextGen ของเรา จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในผลกระทบและความยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญได้อย่างไร"
เอกสารหัวข้อ "A Generation of Change-Makers" ซึ่งร่วมเขียนโดย Credit Suisse และ Asian Venture Philanthropy Network (AVPN) ได้มีการนำเสนอภายในงาน เอกสารดังกล่าวได้เจาะลึกถึงแนวโน้มด้านการสาธารณกุศลใหม่ ๆ ทั่วทั้งเอเชีย
นายกวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการ กลุ่มมิตรผล ได้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อสำคัญ ๆ จากเอกสารดังกล่าว และได้กล่าวถึงวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนคือ การใช้ความคิดนี้เป็นแนวปฏิบัติทางธุรกิจ "การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่ใช่แค่การตัดกำไรส่วนหนึ่งของเราให้ไป แต่เป็นการมองในแง่ของรูปแบบธุรกิจของเรา ซึ่งสามารถสร้างสิ่งดีๆ ตามมาได้มากมาย" เขากล่าว
นายกวินกล่าวเสริมว่า "เราไม่ได้อยากทำแค่แจกของ แต่ในฐานะที่เป็นเสมือนครอบครัว เราอยากจะให้ในรูปแบบที่สามารถส่งต่อการให้นี้ไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งหมายความว่า เรามองหาความต่อเนื่องในทุก ๆ สิ่งที่เราสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน มูลนิธิ หรือแนวทางปฏิบัติด้านธุรกิจของเราเอง และเราก็ตั้งใจว่าเราจะอยู่ในแวดวงใกล้กับชุมชนของเรา"
สรุปข้อมูลสำคัญจากเอกสารแจกมีดังต่อไปนี้
แนวโน้มสาธารณกุศลเชิงกลยุทธ์ในเอเชียแปซิฟิก
- ภูมิภาคเอเชียมีความมั่งคั่งมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้สถานการณ์ความไม่เท่าเทียมกันและปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ก่อนแล้วทวีความรุนแรงมากขึ้นก็ตาม คาดว่าจำนวนนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra-High Net Worth Individual) จะเพิ่มขึ้นถึง 38% ในอีกห้าปีข้างหน้า และประมาณ 35% ของความมั่งคั่งจะเปลี่ยนผ่านไปยังคนรุ่นใหม่ในอีก 5-7 ปีข้างหน้า
- นักกิจกรรมสาธารณกุศลรุ่นใหม่มีความคิดที่จะทำให้การทำสาธารณกุศลมีผลมากขึ้น ผ่านการใช้เครื่องมือการลงทุนทางสังคมเชิงกลยุทธ์ควบคู่ไปกับการให้เงินทุนเพื่อสร้างผลกระทบที่ดีและยาวนานยิ่งขึ้น
- นักกิจกรรมสาธารณกุศลตระหนักถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน
ข้อมูลเชิงลึกของกรณีศึกษาเกี่ยวกับสาธารณกุศล
- การร่วมสร้างโซลูชันเพื่อผลกระทบในระยะยาว
- นักกิจกรรมสาธารณกุศลมีความสนใจมากขึ้นที่จะมีส่วนร่วมในการออกแบบและกำหนดโครงสร้างของการแก้ปัญหาทางสังคม
- การมีส่วนร่วมมากกว่าแค่การบริจาคเงิน
- นักกิจกรรมสาธารณกุศลเริ่มแบ่งปันต้นทุนทางสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งความเชี่ยวชาญและเครือข่าย เพื่อสานต่อสิ่งที่พวกเขาสนใจ ด้วยการแบ่งปันทักษะและคำแนะนำเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรผู้รับสามารถสร้างเสริมศักยภาพ เติบโต และสร้างผลการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น
- การนำมุมมองระบบนิเวศมาใช้
- นักกิจกรรมสาธารณกุศลเริ่มพิจารณาถึงวิธีจัดการกับต้นเหตุของความท้าทายทางสังคมและเศรษฐกิจต่อต้านกับการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
- ตอบสนองต่อความต้องการที่กำลังเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ และพัฒนาระบบนิเวศในวงกว้าง
- นักกิจกรรมสาธารณกุศลที่ประสบความสำเร็จจะต้องเข้าใจถึงความต้องการในพื้นที่โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งพัฒนาการด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังต้องเข้าใจถึงส่วนรวมเพื่อจะได้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและโรคระบาดส่งผลต่อชุมชนที่พวกเขาต้องการช่วยเหลืออย่างไร
- การควบคุมระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของกิจกรรมสาธารณกุศลเพื่อสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ
- เมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ นักกิจกรรมสาธารณกุศลมีแนวความคิดที่จะให้ทุนสนับสนุนความคิดนอกกรอบที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่า ด้วยความหวังว่าจะทำให้เกิดแนวทางที่สามารถขยายผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ พวกเขามีการใช้เงินเป็นต้นทุนความเสี่ยงในสาธารณกุศลมากขึ้นเพื่อสร้างทางออกใหม่ ๆ ให้กับปัญหาที่มีอยู่ คู่ขนานไปกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม
สามารถอ่านเอกสาร "A Generation of Change-Makers" ได้ที่ http://credit-suisse.com/media/assets/apac/docs/phil-connect-2022-avpn-whitepaper.pdf
.