ม.กรุงเทพ จับมือ ดีป้า อัปดีกรี "โค้ดดิ้ง" นักเรียน-ครู ระดับประถม-มัธยม กว่า 1 หมื่นคน เปิดคอร์สติวสร้างโลกเมตาเวิร์สเพื่อการศึกษา หนุนเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโต

ข่าวทั่วไป Wednesday October 5, 2022 11:15 —ThaiPR.net

ม.กรุงเทพ จับมือ ดีป้า อัปดีกรี

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จัดโครงการการเขียนโค้ดสำหรับโลกนฤมิต (Coding for Metaverse) ยกระดับเยาวชนให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถเขียนโปรแกรมต่อยอดประยุกต์ใช้สร้างโลกเสมือนจริง ผ่านแพลตฟอร์ม Roblox โดยผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยมัลติมีเดีย อินเทลลิเจ้นท์ เทคโนโลยี (Multimedia Intelligent Technology) และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยตั้งเป้าให้เยาวชนที่เข้าร่วมอบรมนำความรู้พื้นฐานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปต่อยอดสู่การสร้างโลกเสมือน รวมถึงพัฒนาเครือข่ายการเรียนการสอนโค้ดดิ้งให้เข้าถึงนักเรียนทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นพลเมืองแห่งโลกดิจิทัลในอนาคต โดยตั้งเป้าพัฒนานักเรียนในเครือข่ายการเรียนรู้โค้ดดิ้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน ทั่วประเทศ พร้อมกับยกระดับทักษะครูไม่ต่ำกว่า 200 คน เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียนในห้องเรียนต่อไป

นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีนโยบายในการพัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัล โดยวางเป้าหมายเพิ่มศักยภาพกำลังคนดิจิทัลกว่า 5 แสนคน และพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพพัฒนาหลักสูตรยกระดับทักษะโค้ดดิ้งในโครงการ Coding for Metaverse หรือการเขียนโค้ดสำหรับโลกนฤมิต โดยมุ่งเน้นรูปการเรียนรู้แบบเอดูเทนเมนต์ (Edutainment) ให้เยาวชนได้เรียนโค้ดดิ้งพร้อมเรียนรู้อย่างสนุกสนาน ผ่านแพลตฟอร์ม Roblox และได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรอย่างฟิวเจอร์ สกิล (Future Skill) ซึ่งเป็นสตาร์ทอัปของไทย ร่วมนำหลักสูตรดังกล่าวขึ้นบนแพลตฟอร์ม e-Learning ยอดนิยมของไทย เพื่อให้เยาวชนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสามารถเขียนโค้ดได้

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมดิจิทัลยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้อีกในอนาคต และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมการเงินที่สามารถสร้างรายได้ในรูปแบบของ GameFi หรือ Game NFT ได้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สร้างประสบการณ์การเล่นเกมให้สนุกและดึงดูดผู้เล่นเกมให้อุตสาหกรรมคึกคักยิ่งขึ้น อีกทั้ง การสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชนจะเป็นแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันเด็กรุ่นใหม่ให้กลายเป็นกำลังคนดิจิทัลของประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ด้าน ผศ. ดร.กิ่งกาญจน์ สุขคณาภิบาล หัวหน้าโครงการ Coding for Metaverse และอาจารย์ประจำศูนย์วิจัยมัลติมีเดีย อินเทลลิเจ้นท์ เทคโนโลยี (Multimedia Intelligent Technology) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า โครงการการเขียนโค้ดสำหรับโลกนฤมิต หรือ Coding for Metaverse เป็นโครงการที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการโค้ดดิ้งจะมาฝึกอบรมนักเรียนในเครือข่ายการเรียนรู้โค้ดดิ้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน ทั่วประเทศ พร้อมกับยกระดับทักษะครูไม่ต่ำกว่า 200 คน เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียนในห้องเรียนต่อไปภายใต้โครงการ "พาคุณครูก้าวสู่โค้ดดิ้ง" และร่วมปั้นเด็กรุ่นใหม่ให้เข้าใจการเรียนโค้ดเพื่อสร้างโลกเมตาเวิร์สมากขึ้น โดยมีการอบรมคุณครูในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาเกี่ยวกับทักษะดิจิทัล ทักษะการโค้ดดิ้ง ความรู้เกี่ยวกับเทรนด์เทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น NFT หรือ Blockchain รวมถึงอบรมการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเข้าสู่โลกแห่งเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ครูสามารถถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียนในรูปแบบเกมมิฟิเคชัน (Gamification) เป็นการนำเกมมาสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ซึ่งคาดว่าจะมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 10,000 คน และมีการจัดอบรมครูทั่วประเทศกว่า 200 คน โดยครูและนักเรียนที่ผ่านการอบรมจะได้รับวุฒิบัตร รับรองโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

นอกจากนี้ ยังจัดการประกวดแข่งขัน Coding for Metaverse เปิดเวทีให้นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย และระดับมัธยมศึกษาได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาทักษะการเขียนโค้ด ให้สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจ โดยการประกวดครั้งนี้ มีรางวัลมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท มอบให้กับนักเรียน ครูที่ปรึกษา และโรงเรียน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างนักเขียนโค้ดอย่างเป็นระบบ ให้พร้อมเข้าสู่โลกแห่งเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการฟรีได้ที่ https://bit.ly/3fDKgTV หรือ Line@ CodingforMateverse

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/bangkokuniversity และเว็บไซต์ https://www.bu.ac.th/th/ และติดตามความเคลื่อนไหวของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/depathai/ และเว็บไซต์ https://www.depa.or.th/th/home


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ