มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม - สิงหาคมปีนี้ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่า 6,426.34 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 10,877.29 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.54 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป จะพบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 5,077.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 35.52 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือนพบว่า เดือนสิงหาคม มีมูลค่า 637.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.39 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2565
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากภาวะวิกฤติโควิดเริ่มคลี่คลายตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยก็กลับมาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดการส่งออกไปยังประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป อินเดีย และอาเซียน เติบโตได้ดี เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจสำคัญหลายประเทศทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องจากสถานการณ์ที่มีความผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้จ่ายสินค้าอื่นๆ นอกจากสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ มีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี และความรู้สึกเชิงบวกต่อการบริโภค ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์ ของฝาก รวมถึงเครื่องประดับ รวมทั้งปัจจัยส่งเสริมอย่างเช่น การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในประเทศคู่ค้าสำคัญ ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก ประกอบกับความวิตกในสถานการณ์เศรษฐกิจ ทำให้ไทยสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสทองในภาวะวิกฤตของไทย
ดังนั้นเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยทั้งในด้านการส่งออก และการบริโภคในประเทศผ่านการท่องเที่ยว จึงจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ - ปลายน้ำ และพัฒนาให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต ให้กลายเป็นผู้ประกอบการที่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง สร้างตัวตนผ่านอัตลักษณ์อันมีค่าของท้องถิ่นนั้นๆ สร้างแบรนด์ และกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ในปีงบประมาณ 2566 นี้ จึงได้มอบนโยบายให้แก่สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ในการลงพื้นที่ต่อยอดเพื่อพัฒนาผู้ศักยภาพผู้ประกอบการในภูมิภาค ทั้งด้านฝีมือแรงงานและผลิตภัณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมา จาก โครงการมาเหนือ อีสานมอร์เดิ้น ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงได้ให้นำ Model นี้ต่อยอดลงในพื้นที่ภาคใต้ ในโครงการพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์เครื่องประดับภาคใต้เพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งถือได้ว่า เป็นประตูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งด้านธรรมชาติ และวัฒนธรรม พร้อมให้ดำเนินการช่วยผู้ประกอบการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในทุกช่องทาง รวมถึงการสร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นให้กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยผ่าน GIT STANDARD และ โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy With Confidence) เพื่อตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก