จากงานเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 10 เรื่อง "สินทรัพย์ดิจิทัล สถานการณ์ โอกาส และความเสี่ยง" ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล Chief Brand Officer จุฬาฯ และหัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากคณะเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำเสนอข้อมูล ความรู้ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับสถานการณ์การลงทุนของสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า การสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อชี้นำขับเคลื่อนสังคมไทยและสังคมโลกเป็นหนึ่งในพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศที่พร้อมทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจและให้คำตอบแก่สังคมและประเทศชาติ ท่ามกลางปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ที่ท้าทายซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อมีเหตุการณ์กระทบต่อสังคมหรือปัจเจกบุคคล จุฬาฯ จะมีคำตอบให้กับสังคมเสมอ การจัดเสวนาในครั้งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ในมุมของการลงทุนและการเก็บมูลค่าต่างๆ ด้านการเงิน ก่อเกิดธุรกรรมต่างๆ และยังเกี่ยวข้องกับเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย อย่างเช่นคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ Blockchain จะเห็นว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้คริปโตเคอร์เรนซีมีมูลค่าที่ตกลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์การเงิน และต่อเนื่องไปอีกหลายวงการ มูลค่าของสินทรัพย์ก็ถูกกระทบ เราจึงต้องกลับมามองและหาคำตอบจากวิกฤตการณ์เหล่านี้
รศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านพันธกิจสากล และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึง "ความผันผวน" ของตลาดสินทรัพย์ดิจิตอลว่ามีค่อนข้างสูง คาดเดาได้ยากหรือจะเรียกว่าเป็นตลาด VUCA (Volatility ความผันผวน, Uncertainty ความไม่แน่นอน, Complexity ความซับซ้อน, Ambiguity ความคลุมเครือ) เวลาที่มูลค่าของเหรียญร่วงลงมามักจะมีความผันผวนสัมพันธ์กับเหรียญ bitcoin ซึ่งเป็นเหรียญที่มี Market Cap (มูลค่าตามราคาตลาดโดยรวมของหลักทรัพย์จดทะเบียน) สูงที่สุดในสินทรัพย์ดิจิตอลทั้งหมด ในเรื่องมูลค่าที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น งานวิจัยในยุคแรกๆ นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการทั้งหลายไม่สามารถคาดการณ์ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดกับตลาดสินทรัพย์ดิจิตอลได้เลย ซึ่งโดยปกติหลักการจัดพอร์ตเพื่อบริหารสินทรัพย์ควรมีการกระจายความเสี่ยงไปในทรัพย์สินต่างๆ หลังจากปี 2020 เป็นต้นมา IMF ได้มีงานวิจัยออกมา คริปโตเคอร์เรนซีเริ่มเข้ามามีความสัมพันธ์มากขึ้นกับสินทรัพย์เสี่ยงที่เป็นรูปแบบปกติที่คนทั่วไปเข้าใจได้ อย่างหุ้นสหรัฐฯ เช่น เมื่อหุ้นตก เหรียญ bitcoin ก็จะตกด้วย
หลักที่อยากให้คิดและทำความเข้าใจตาม คือ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส ในเรื่องความเสี่ยง อาจไม่ใช่สินทรัพย์ที่เหมาะกับทุกคน เพราะเหมาะสำหรับคนที่มีเงินเย็น และไม่เดือดร้อนอะไรถ้าเงินเย็นนี้สามารถหายไปได้ มีโอกาสขาดความยับยั้งชั่งใจสูงเนื่องจากเป็น Paper loss ทำให้เกิดภาวะอยากเสี่ยงลงทุนให้ได้มาซึ่งการกู้คืน (Recovery) เพิ่มมากขึ้น เพราะผลตอบแทนค่อนข้างผันผวนสูงและคาดเดาได้ยาก ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน มีสติในการลงทุน ส่วนมุมมองในด้านโอกาส จะเกิดขึ้นได้จริงด้านโอกาสทางธุรกิจและเทคโนโลยีมากกว่า อนาคตจะขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจที่เข้ามีส่วนร่วมในตลาดนี้
รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ ประธานหลักสูตร MBA (English) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า สินทรัพย์ดิจิทัล เกิดจากสองปัจจัยร่วมระหว่างการเก็บบันทึกข้อมูลในฐานข้อมูลที่ใช้หลักการต่างๆ และอาจจะมีความเชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริงในบางครั้ง อย่าง Blockchain ก็เป็นหนึ่งในนั้น และข้อมูลนั้นเป็นสิ่งที่สามารถซื้อขายได้ ข้อมูลนั้นคล้ายกับสินทรัพย์ที่ใช้ในการลงทุน ข้อมูลซื้อขายได้เป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมา เช่น กระดาษหนึ่งแผ่นเขียนตัวเลขหนึ่งร้อยลงไป ยื่นให้คนอื่นอาจไม่รับ แต่ถ้ากระดาษนั้นถูกเขียนจากโรงพิมพ์ธนบัตร ภายใต้ธนาคารแห่งประเทศนั้นๆ กำหนดตัวเลขหนึ่งร้อย มีสัญลักษณ์พิเศษต่างๆ กระดาษแผ่นนั้นจะกลายเป็นเงินขึ้นมาทันที ทั้งที่เขียนตัวเลขจำนวนเดียวกัน แต่มูลค่าไม่เท่ากัน สิ่งที่เกิดขึ้นมีหลักการคล้ายกับในโลกกายภาพที่คุ้นเคย แต่กำลังเกิดขึ้นในโลกดิจิทัล ในปัจจุบัน ความท้าทายในการขยับจากโลกกายภาพสู่โลกดิจิทัล เช่น การซื้อขายภาพ NFT ที่ใช้ใบแสดงสิทธิ์ให้ผู้ซื้อไป จะมั่นใจได้อย่างไรในการแสดงสิทธิ์แล้วจะได้รับภาพมาได้จริง ถ้าเข้าใจหลักการนี้แล้วเรื่องเงินก็เช่นกัน เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับข้อมูลแต่เป็นความไว้วางใจที่ให้กับผู้ดูแลข้อมูลนั้น
รศ.ดร.คณิสร์ได้ยกคำพูดของ Warren Buffet ที่ว่า "Price is what you pay, Value is what you get" และเสริมว่าเวลาที่ซื้อสินทรัพย์ในการลงทุน แบ่งกว้างๆ เป็น "สิ่งนี้มีค่า" ซึ่งจะให้ประโยชน์ต่างๆ ที่คาดว่าพึงจะได้รับจากการซื้อสิ่งนี้ไว้ เช่น จากปันผล จากการให้บริการ เป็นต้น ในขณะที่สิ่งที่ "สังคมมองว่ามีค่า" ประโยชน์เดียวที่จะได้คือถือแล้วส่งต่อ หากไม่มีใครต้องการแล้วราคาจะเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่สังคมจะกำหนด ขึ้นอยู่กับการมี Fundamental Values ของสิ่งนั้น ดังนั้นสินทรัพย์ดิจิทัลมีการซื้อขายทุกอย่างที่เป็นข้อมูลตัวเลข (Data) ใน Blockchain บางอย่างเป็นหลักฐานของคำมั่นสัญญาระหว่างผู้ซื้อผู้ขายผ่านตัวกลาง (Exchange) หากมองผ่านมุมประวัติศาสตร์ก็สามารถนำมาเชื่อมโยงและเป็นกรณีศึกษาให้กับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ผู้สนใจสามารถเพิ่มเติมความรู้ด้านการเงินได้จากหนังสือ "เงิน ปัจจุบัน และอนาคต" โดย รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ ได้ที่ https://www.khonthai4- 0.net/academies_knowledge_detail.php?id=4&sub_category_id=31&content_id=84
รศ.ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ยกตัวอย่างการซื้อขายภาพ NFT (Non-fungible token) ซึ่งภาพมีอยู่จริงทางกายภาพเก็บไว้ในตู้นิรภัยสักที่หนึ่ง เมื่อมีการซื้อแล้ว ผู้ขายจะให้รหัส ซึ่งอาจเป็น Serial Number แก่ผู้ซื้อ เพื่อให้ผู้ซื้อนำรหัสไปแสดงความเป็นเจ้าของแก่แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เก็บรักษาภาพ แต่ถ้าหากเกิดปัญหาไม่สามารถนำภาพออกมาได้ ก็กลายเป็นประเด็นกฎหมาย ว่าสามารถเรียกร้องหรือดำเนินการอย่างไรได้ เพราะในปัจจุบันเริ่มมีปัญหาที่แพลตฟอร์มกลางแลกเปลี่ยนซื้อขายทำการปิดตัวลง ข้อมูลหรือธุรกรรมก่อนหน้านั้นหายไปในพริบตา จึงเกิดเป็นคำถามว่ากรรมสิทธิ์จะตกอยู่ที่ใคร และใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบ
ประเด็นแบบกรรมสิทธิ์ใน NFT ที่เป็นเหมือนอีกรูปแบบหนึ่งของกรรมสิทธิ์ดั้งเดิมแบบที่ดิน ที่ต้องทำให้เกิดการยอมรับว่าแพลตฟอร์มตัวกลางจะต้องมีหน้าที่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็ตาม จะต้องทำให้กรรมสิทธิ์สมบูรณ์ให้ได้ซึ่งจะขึ้นอยู่กับ "สัญญา" ที่ทำกับแพลตฟอร์มเป็นหลัก
ในด้านการลงทุน แพลตฟอร์มตัวกลางอาจเรียกว่า "Exchange" ซึ่งต้องมีสัญญาการลงทุน (Investment Contract) และต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแล เพราะมีการเสนอขายกับประชาชนทั่วไป หากโดนโกง ถูกหลอกลวง เอกสารสัญญาไม่เป็นอย่างที่พูด ก็จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กติกาสำคัญคือ ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ต้องมีหนังสือชี้ชวน และต้องมีการอธิบายเปิดข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนทุกคนทราบ ซึ่งต้องดูพื้นฐานของเรื่องนี้ว่าคือ "การลงทุน" ถ้าเป็นการลงทุนก็ต้องกำกับดูแลตามที่เป็นการลงทุน