My Portfolio Contest เปิดตัวนักสร้างสรรค์แอนิเมชั่นไทยรุ่นใหม่ เพื่ออนาคตแอนิเมชั่นไทยที่แข็งแกร่ง

ข่าวทั่วไป Thursday January 27, 2005 14:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
“ผมชอบอ่านการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก พออ่านมากๆ เข้าก็เริ่มหัดวาดการ์ตูนเหล่านั้นเอง ผมเคยแต่งนิทานมีตัวสุนัขเป็นครู และมีแมวเป็นภารโรงด้วย ตอนนั้นคงราวๆ 10 ขวบ”
จากความสนใจในตัวการ์ตูนบวกกับความช่างจินตนาการในวัยเด็กมีส่วนทำให้นายจิตติพงศ์ ศิริสายัณห์ ซึ่งขณะนี้เป็นนักศึกษาปีสาม คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้กลายเป็นผู้ชนะการประกวดโครงการ My Portfolio Contest ในเขตกรุงเทพมหานคร นายจิตติพงศ์ หรือ “เก่ง” เป็นหนึ่งในผู้ชนะเลิศจำนวนทั้งสิ้น 5 คนจากโครงการประกวดมัลติมีเดียและแอนิเมชั่นระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า และบริษัท อาร์ททูคอม จำกัด ผู้ผลิตนิตยสารเมนู คอมพิวเตอร์ ไอเดีย จัดขึ้นเป็นปีแรก ณ มหาวิทยาลัยตามภาคต่างๆ รวมทั้งสิ้น 5 แห่ง ได้แก่ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร โดยมีนักศึกษาส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมด 535 ผลงาน
สำหรับความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ของเก่งนั้น เขาเล่าให้ฟังว่า “ผมชอบคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เล็กๆ โดยมักจะได้ไปเล่นคอมพิวเตอร์เวลาไปที่ทำงานของคุณแม่ซึ่งทำงานบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นคุณพ่อก็ซื้อคอมพิวเตอร์มือสองให้เป็นเครื่องแรก ก็เรียนรู้วิธีการใช้งานด้วยตัวเองก่อน พอขึ้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่งที่โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ นนทบุรี ถึงจะเริ่มเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันนี้ก็กำลังสอนน้องอีก 2 คนให้ใช้พีซีเป็นด้วย”
“ผมทราบเรื่องเกี่ยวกับโครงการประกวด My Portfolio Contest ก็อยากจะลองส่งผลงานดู เริ่มแรกผมคิดแนวเรื่องไว้หลายแบบ แต่มาสรุปเป็นอันนี้แล้วก็เริ่มลงมือทำโดยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ผมคิดว่าจุดที่ทำให้ผลงานของผมชนะเลิศคงเป็นเพราะเป็นแอนิเมชั่นที่สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของผมเองออกมาได้มาก”
นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานสรุปผลความสำเร็จของโครงการประกวด My Portfolio Contest ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคสามารถรับดิจิตอลคอนเทนต์ได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งผลให้มีความต้องการบุคลากรที่จะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมด้านการผลิตดิจิตอลคอนเทนต์มากขึ้น อินเทลมองว่าเรามีเยาวชนที่เป็นแอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพมากพอที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลได้อย่างแน่นอนในอนาคต”
“การที่จะสร้างผลงานกราฟิกและมัลติมีเดียออกมาได้นั้น ต้องประกอบกันทั้งส่วนของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และตัวบุคคลากร ในด้านเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์นั้น แพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมนี้ คอมพิวเตอร์ที่ใช้อินเทล? เพนเทียม? โฟร์ โปรเซสเซอร์ ที่มีเทคโนโลยีไฮเปอร์-เธรดดิ้ง จะช่วยให้นักสร้างสรรค์งานด้านแอนิเมชั่นและมัลติมีเดีย สามารถสร้างงานดิจิตอลได้อย่างมากมาย เพราะเทคโนโลยีไฮเปอร์-เธรดดิ้งได้รับการออกแบบให้ช่วยเพิ่มสมรรถนะของโปรเซสเซอร์ในการทำงานบนแอพพลิเคชั่นหลายตัวพร้อมกันแบบมัลติเธรดได้ อีกทั้งยังช่วยให้ทำงานหลายชิ้นพร้อมๆ กันแบบมัลติทาสกิ้งให้สำเร็จลงได้โดยใช้เวลาน้อยลง” นายเอกรัศมิ์ กล่าว
สำหรับหนุ่มน้อยอีกรายซึ่งเป็นนักศึกษาปีที่สี่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ของมหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ผู้ชนะเลิศประจำภาคกลางคือ นายขจรเดช ธนวร หรือ “ต้น” ก็เปิดเผยให้เราฟังว่า เขาโตมากับการ์ตูนดราก้อนบอล ซึ่งสมัยนั้นดังมาก ช่วงเด็กๆ ก็หัดวาดรูประบายสีบ่อยๆ แต่ไม่เคยส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเลย กว่าต้นจะได้เริ่มจับเม้าส์และคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์ก็คือเมื่ออยู่ปีสอง ที่มหาวิทยาลัยบูรพา โดยได้เรียนโปรแกรมพวก โฟโต้ชอป และอิลัสเตรเตอร์ จากนั้นก็ได้มาซื้อพีซีเป็นของตนเองเมื่ออยู่ปีสาม พร้อมๆ กับเริ่มรับงานพิเศษจากเพื่อนนักศึกษาคณะอื่นเช่นพวกที่เรียนนิเทศศาสตร์ซึ่งต้องทำงานกราฟิกหรือมัลติมีเดียส่งอาจารย์ เขาก็มักจะเอางานเขามาจ้างให้เราช่วยตัดต่อโฆษณา หรือทำสตอรี่บอร์ดให้ ก็พอได้ค่าขนมสบายๆ
ขณะนี้แม้อยู่ปีสี่และยังเหลือเวลาอีก 2-3 เดือนจึงจะจบปริญญาตรี แต่ต้นก็ได้งานทำที่บริษัทตัดต่อภาพยนตร์โฆษณาแห่งหนึ่งแล้ว ความฝันของเขาคืออยากเป็นนักสร้างสรรค์แอนิเมชั่นมืออาชีพ ต้นให้ความเห็นเกี่ยวกับวงการมัลติมีเดียเมืองไทยไว้อย่างน่าสนใจทีเดียวว่า “อยากเห็นคนไทยมีโอกาสทำงานด้านนี้มากขึ้น เพราะปัจจุบันเรามีอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมมากขึ้น มีฝ่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนออกมาสนับสนุนมากขึ้น อย่างประเทศเกาหลีนั้น เริ่มงานด้านแอนิเมชั่นทีหลังประเทศญี่ปุ่นตั้งนาน แต่ปัจจุบันก็ไล่ตามเกือบทันแล้วเพราะรัฐบาลให้การสนับสนุนมากๆ โครงการไหนดีเขาจะเข้ามาร่วมให้ทุนเลย ผมจึงอยากให้ภาครัฐของเราสนับสนุนวงการนี้อย่างจริงจังให้กลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศต่อไป”
ต้นอธิบายผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประจำภาคกลางของเขาว่า ใช้เวลาในการคิดวางแผนการทำอยู่ประมาณสองสัปดาห์ และลงมือทำจริงๆ ประมาณหนึ่งสัปดาห์ โดยจุดเด่นของงานของเขาคือการพยายามใช้เทคนิคสองมิติและสามมิติมาผสมผสานกัน แล้วใส่เทคนิคเข้าไปในช่วงการทำตัวหนังสือ ทำให้ดูตัวหนังสือเหมือนกับค่อยๆ ระเหยหายไป
สำหรับเคล็ดลับของการทำงานด้านแอนิเมชั่นและมัลติมีเดียสำหรับผู้ที่เป็นมือใหม่ในทัศนะของแอนิเมเตอร์มืออาชีพของประเทศไทย คือคุณคมภิญญ์ เข็มกำเนิด animation supervisor บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นสามมิติเรื่อง ‘ก้านกล้วย’ ผู้ซึ่งเข้าร่วมในคณะกรรมการตัดสินของโครงการประกวดนี้ด้วยก็คือ “นักศึกษาจะต้องหมั่นสร้างผลงานและเก็บเป็นพอร์ตโฟลิโอของตนไว้ ผลงานต่างๆ ที่ได้เห็นจากการประกวดครั้งนี้ค่อนข้างประทับใจทีเดียว แต่ละชิ้นก็มีจุดเด่นของตนต่างกันไป แต่จุดสำคัญของพอร์ตโฟลิโอที่ดีคือ ต้องสามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาให้ได้ เรื่องเทคนิคนั้นเป็นองค์ประกอบ ผลงานต้องแสดงบุคคลิกของเรา ทำให้คนอื่นเห็นตัวตนของเราได้ชัดเจน”
คุณสุรเชษฐ เฑียรบุญเลิศรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Blu Fairy จำกัด ผู้กำกับเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิก ภาพยนตร์ ‘ปักษาวายุ’ ซึ่งเป็นมืออาชีพอีกหนึ่งท่านที่ได้สละเวลามาร่วมในคณะกรรมการตัดสินก็ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การประกวดคอมพิวเตอร์กราฟิกและมัลติมีเดียแบบ My Portfolio Contest นี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับประเทศไทย อยากให้นักศึกษาหมั่นส่งผลงานเข้าประกวด เพื่อลับความคิดของเราให้แหลมคม และก็ควรดูงานของนักศึกษาสถาบันอื่นด้วย หรือการไปดูผลงานสร้างสรรค์ทางด้านภาพยนตร์ก็ดีเหมือนกัน เพราะจะได้สังเกตว่าเขาใช้เทคนิคในการเล่าเรื่องอย่างไร
นักศึกษาอีกคนหนึ่งที่เดินทางมาไกลทีเดียวเพื่อมาพูดคุยกับเราในวันนี้ก็คือ นายเอเดรียน วัฒนานุพงศ์ นักศึกษาปีสาม คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เจ้าของผลงานชนะเลิศในเขตภาคใต้ เอเดรียนเล่าว่าเขาเริ่มหัดใช้คอมพิวเตอร์ตอนอยู่ชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนจินตรังษี แต่ก็ยังไม่ได้สนใจมากนัก จนกระทั่งอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่สาม ก็มีพีซีที่บ้านที่คุณพ่อซื้อให้ ก็เริ่มลองทำเว็บไซต์เอง เล่นเกมส์ เล่นอินเทอร์เน็ต เป็นต้น สำหรับผลงานที่ส่งประกวดนั้น เอเดรียนบอกว่ามีเวลาทำเพียงสองวันเท่านั้น เพราะการประกวดอยู่ในช่วงสอบกลางภาคพอดี สิ่งที่เอเดรียนฝากมากับเราก็คืออยากให้มีการสอนด้านแอนิเมชั่นอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยมากขึ้น
ก่อนกลับจากงานประกาศความสำเร็จของโครงการ My Portfolio Contest ในวันนั้น เราได้ฟังความเห็นจากคุณมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการซิป้า ซึ่งกล่าวว่า รู้สึกพอใจมากที่การประกวดปีแรกนี้มีผลงานจากนักศึกษาทั่วประเทศส่งเข้ามาถึง 535 คน ผลงานทั้งหมดที่เข้าประกวดนี้ทางซิป้าจะนำไปเก็บในรูปของ ซีดี-รอมก่อน ต่อไปจึงจะสร้างเป็นเว็บไซต์เก็บพอร์ตโฟลิโอของนักศึกษาโครงการนี้ รวมทั้งเก็บรวบรวมผลงานของพวกที่เป็นมือรับจ้างอิสระทั้งหลาย ปัจจุบันก็มีผู้ที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมมัลติมีเดียจากต่างประเทศติดต่อเข้ามามาก เขาก็สนใจกัน ซิป้าเองก็จะสนับสนุนโครงการนี้ต่อไปอีก และอยากจะให้ขยายออกไปให้กว้างขวางขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้นักศึกษาได้แสดงผลงานอย่างเต็มที่
แว่วๆ ว่าโครงการประกวด My Portfolio Contest ปีที่สองจะเริ่มขึ้นประมาณเดือนสิงหาคม ระหว่างนี้น้องๆ นักศึกษาก็หมั่นฝึกฝน หาความชำนาญ และลับสมองหาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เตรียมไว้ให้พร้อม ความฝันที่จะได้เป็นแอนิเมเตอร์ระดับนานาชาติก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน
พิธีปิดโครงการ My Portfolio Contest
วันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2548 - โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ
Photo caption
My Port winners ส่วนหนึ่งของผู้ชนะเลิศจากการแข่งขันร่วมถ่ายภาพกับ นายศุภชัย บุญสุวรรณ์ (ที่สองจากซ้าย) บรรณาธิการบริหารนิตยสารเมนู คอมพิวเตอร์ ไอเดีย ผู้จัดการประกวด และ นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ (ที่สามจากซ้าย) กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในงานแถลงความสำเร็จของการประกวดโครงการ My Portfolio Contest (จากซ้ายไปขวา) นายเอเดรียน วัฒนานุพงศ์ จากภาคใต้ นายขจรเดช ธนวร จากภาคกลาง/ตะวันออก และ นายจิตติพงศ์ ศิริสายัณห์ จากกรุงเทพฯ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
อรวรรณ ชื่นวิรัชสกุล คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
โทรศัพท์: 0-2627 3501 ต่อ 212
อีเมล: orawan@carlbyoir.com.hk
สามารถคลิกดูภาพข่าวได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ