บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign-currency Issuer Default Rating หรือ IDR) ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ที่ 'BBB+' และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย
พร้อมกันนี้ฟิทช์ประกาศยกเลิกอันดับเครดิตสนับสนุนของ EXIM ที่ '2' และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ 'BBB+' เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวมิได้มีนัยสำคัญเพียงพอในการติดตามวิเคราะห์อีกต่อไป หลังจากที่มีการปรับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 และสอดคล้องกับประกาศหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ฟิทช์ให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Rating: GSR) แก่ EXIM ที่ 'bbb+'
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาล: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ EXIM พิจารณาจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลและความคาดหวังของฟิทช์ว่าธนาคารน่าจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษนอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติจากรัฐบาลไทยในกรณีที่มีความจำเป็น ดังนั้นอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ EXIM จึงอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย (BBB+/Stable/F1) อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ EXIM เป็นอันดับเครดิตที่สูงที่สุดสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศซึ่งสะท้อนมุมมองของฟิทช์ว่าความเสี่ยงของธนาคารที่จะผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารและบริษัทรายอื่นในประเทศไทย ฟิทช์ไม่ได้ให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) แก่ EXIM เนื่องจากการประเมินความแข็งแกร่งทางเครดิตของตัวธนาคารเองไม่ได้มีนัยสำคัญเนื่องจากบทบาทของธนาคารในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล
มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล: ธนาคารมีหน้าที่ในการสนับสนุนกิจกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายหรือได้รับการบริการจากธนาคารพาณิชย์ ฟิทช์มองว่าบทบาทในการสนับสนุนนโยบายรัฐของ EXIM มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อรัฐบาล เนื่องจากภาคการส่งออกคิดเป็น 58% ของ จีดีพี ของประเทศไทย นอกจากนี้ธนาคารยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ส่งออกโดยใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทประกันการค้า EXIM เป็นธนาคารรัฐเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการประกันการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ จึงเป็นการยากที่จะทำการโอนบทบาทนโยบายของ EXIM ไปยังธนาคารของรัฐอื่น
บทบาทสนับสนุนในช่วงสถานการณ์โรคระบาด: EXIM มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนลูกค้าในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการให้การสนับสนุนในรูปแบบของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เงินทุนหมุนเวียน การพักชำระหนี้ และการจัดหาสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูธุรกิจหลังจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สินเชื่อคงค้างของ EXIM ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยขยายตัว 11% ในปี 2563 และ 13% ในปี 2564 ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของธนาคารในการช่วยต่อต้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
รัฐบาลถือหุ้นทั้งหมดในธนาคาร: กระทรวงการคลังถือหุ้นเต็มจำนวนและมีอำนาจควบคุมอย่างเต็มที่ใน EXIM โดยคณะกรรมการของธนาคารประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานราชการหลายแห่ง รวมถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการประสานงานจากหน่วยงานต่างๆเหล่านี้ช่วยสนับสนุนความสามารถของ EXIM ในการตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล
ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล: EXIM ได้รับการสนับสนุนจากรัฐในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มทุนโดยตรงจากรัฐบาลและการชดเชยดอกเบี้ยสำหรับโครงการสินเชื่อนโยบายรัฐ การสนับสนุนเงินทุนครั้งล่าสุดคือการเพิ่มทุน 2.2 พันล้านบาทในปี 2564 โดยมีแนวโน้มเพิ่มทุนอีก 2 พันล้านบาทภายในปี 2565 นอกจากนี้ EXIM ยังได้รับประโยชน์จากสถานะที่เป็นธนาคารรัฐ ซึ่งช่วยสนับสนุนความสามารถของ EXIM ในการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ได้อย่างมีเสถียรภาพ
นอกจากนี้ธนาคารยังสามารถขอให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ของธนาคารได้ โดยพระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารให้รัฐบาลมีอำนาจค้ำประกันเงินกู้ของธนาคารได้ไม่เกิน 12 เท่าของเงินกองทุนของธนาคาร แม้ว่าที่ผ่านมาธนาคารไม่ได้มีความจำเป็นในการเรียกร้องขอค้ำประกัน แต่การค้ำประกันดังกล่าวอาจช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านเงินทุนที่อาจเกิดขึ้นจากการพึ่งพาเงินทุนจากตลาดทุน
ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น: ผลการดำเนินงานของ EXIM ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีกำไรสุทธิ 1.5 พันล้านบาทในปี 2564 จากขาดทุนสุทธิ 1.3 พันล้านบาทในปี 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลงมาอยู่ที่ 8 ร้อยล้านบาทในปี 2564 (จาก 3.3 พันล้านบาท ในปี 2563) ฟิทช์คาดว่าแนวโน้มรายได้จะยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางธุรกิจ และคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้น ดังนั้นจึงไม่น่าที่จะมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับลดอันดับเครดิตสากลของประเทศไทยเป็นการบ่งชี้ว่าความสามารถในการให้การสนับสนุนธนาคารรัฐ เช่น EXIMของรัฐบาลไทยอ่อนแอลงและจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคาร อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารไม่น่าที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของความสามารถในการให้การสนับสนุนจากรัฐบาล เนื่องจากอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารน่าจะยังคงเป็นอันดับที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศหากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของธนาคารยังอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย
การปรับตัวลดลงของโอกาสในการที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือแก่ธนาคารในมุมมองของฟิทช์ อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคาร โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดจากการที่รัฐบาลลดสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารลงอย่างมีนัยสำคัญ การลดบทบาทของธนาคารในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลและความเชื่อมโยงกับรัฐบาลหรือหากมีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฏหมายของธนาคารจากการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารอาจได้รับผลกระทบเชิงลบเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามการปรับลดอันดับเครดิตจะขึ้นอยู่กับการทบทวนอันดับเครดิตของฟิทช์โดยเปรียบเทียบความแข็งแกร่งของ EXIM เทียบกับบริษัทหรือธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของโอกาสในการให้การสนับสนุนไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยจะส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ EXIM ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสมมติฐานในด้านการให้การสนับสนุน อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตภายในประเทศของ EXIM ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเนื่องจากอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารเป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด
อันดับเครดิตอื่นและอันดับเครดิตหุ้นกู้
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ EXIM อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเป็นภาระผู้กันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกัน
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ EXIM อาจได้รับการปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว หรือ อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารถูกปรับลดอันดับ
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวจะส่งผลไปในทิศทางเดียวกันดับอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ EXIM ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเนื่องจากอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารเป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสาหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก https://www.fitchratings.com/esg
อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับของ EXIM มีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างอันดับเครดิตของประเทศไทย