บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ibank) ที่ 'AA(tha)' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F1+(tha)'
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาล: อันดับเครดิตของ ibank สะท้อนถึงความคาดหมายของฟิทช์ว่า รัฐบาลไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) น่าจะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปกติ (extraordinary support) ในกรณีที่มีความจำเป็นแก่ธนาคาร ibank ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าในประเทศไทยตามหลักศาสนาอิสลาม
อันดับเครดิตภายในประเทศของ ibank ซึ่งสะท้อนถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นปัจจัยหลัก เป็นการพิจารณาเปรียบเทียบกับโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารและบริษัทอื่นในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับโดยฟิทช์ อันดับเครดิตภายในประเทศของ ibank ที่ 'AA(tha)' สะท้อนว่าโครงสร้างเครดิตของธนาคารเป็นระดับความเสี่ยงที่ต่ำที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ เมื่อเทียบกับบริษัทหรือธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศโดยฟิทช์
มีบทบาทในเชิงนโยบายที่สำคัญต่อรัฐบาล: ibank เป็นหนึ่งในหกธนาคารรัฐที่มีพันธกิจเป็นธนาคารอิสลามเพียงแห่งเดียว
ในประเทศไทย ibank มีบทบาทที่สำคัญโดยเฉพาะในการให้บริการทางการเงินในพื้นที่ที่มีประชากรชาวมุสลิมอาศัยอยู่มาก
ในประเทศไทย โดยสินเชื่อของธนาคารส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อสำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและลูกค้ารายย่อยที่เป็นชาวมุสลิม เนื่องจากบทบาทของ ibank ที่มีความเฉพาะตัวและธนาคารยังมีความชำนาญในการดำเนินงานมาอย่างยาวนาน จึงน่าจะเป็นเรื่องยากที่จะโอนถ่ายภารกิจของธนาคารให้แก่ธนาคารรัฐอื่นดำเนินการแทนได้
ภาครัฐมีอำนาจควบคุมการดำเนินงานและให้การช่วยเหลือ: ibank เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง และที่ผ่านมาธนาคารได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มทุนในปี 2561 และการโอนสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ibank ยังคงมีฐานะเงินทุนติดลบ เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาดโคโรน่าไวรัสที่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อผลประกอบการและความสามารถในการสะสมกำไร (internal capital generation) แต่อย่างไรก็ตาม ibank ยังได้รับการผ่อนผันในด้านเกณฑ์การกำกับดูแล และการดำเนินงานของธนาคารยังคงเป็นไปอย่างปกติแม้ว่าธนาคารจะมีอัตราส่วนเงินกองทุนติดลบ อย่างไรก็ดีฟิทช์มองว่าด้วยฐานะทางการเงินที่ค่อนข้างอ่อนแอและขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กของธนาคาร เป็นข้อจำกัดในการดำเนินงานสนับสนุนนโยบายของรัฐ เมื่อเทียบกับธนาคารรัฐอื่น
การถือหุ้นของรัฐบาลไม่ได้เป็นในลักษณะเชิงกลยุทธ์: กระทรวงการคลังเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน ibank ในปี 2561 จากต่ำกว่า 50% เป็น 99.6% ตามแผนการปรับโครงสร้างของธนาคาร ตามที่กำหนดไว้ใน พรบ. จัดตั้งธนาคาร สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังถูกจำกัดไว้ที่ 49% แต่มีการผ่อนปรนข้อจำกัดดังกล่าวเนื่องจากแผนการปรับโครงสร้าง ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังน่าจะลดลงในระยะยาว เนื่องจากน่าจะมีการสรรหาผู้ถือหุ้นที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรรายใหม่กับธนาคาร อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ ibank ที่ 'AA(tha)' นั้นอยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารรัฐรายอื่นที่ได้รับจัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์อยู่ 2 อันดับ สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่าการถือหุ้นของรัฐบาลมีระดับความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารรัฐอื่น
ผลการดำเนินงานยังคงเผชิญแรงกดดัน: ผลการดำเนินงานของ ibank ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2564 โดยมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 0.3% (เทียบกับ -5.2% ปี 2563) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปน่าจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของธนาคาร และฟิทช์คาดว่าความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์น่าจะปรับตัวลดลงบ้าง อย่างไรก็ตามความสามารถในการทำกำไรของธนาคารน่าจะยังคงค่อนข้างอ่อนแอต่อเนื่องในระยะสั้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูงและยังมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งสำรองหนี้สูญต่อเนื่อง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับลดอันดับเครดิตของ ibank อาจเกิดขึ้นได้ หากโอกาสที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ธนาคารปรับตัวลดลง ตัวอย่างเช่น หากมีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของธนาคารของการเป็นธนาคารรัฐ การสูญเสียอำนาจในการควบคุมของรัฐ หรือการคาดว่ารัฐบาลจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ ibank การปรับตัวลดลงของความสามารถของรัฐบาล
ในการสนับสนุนระบบการเงินอาจส่งผลให้มีการทบทวนโอกาสที่ ibank จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศ ทั้งนี้การปรับลดอันดับเครดิตจะพิจารณาเปรียบเทียบกับโครงสร้างเครดิตของสถาบันการเงินไทยรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การเพิ่มขึ้นของโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ ibank อาจนำไปสู่การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารได้ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับธนาคารและบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หากฟิทช์เชื่อว่าการถือหุ้นในธนาคารของรัฐบาลจะเป็นการถือหุ้นระยะยาวเชิงกลยุทธ์ นอกจากนี้หากธนาคารมีความสามารถใน
การสนับสนุนนโยบายรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิตได้เช่นกัน
อันดับเครดิตที่เชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ ibank มีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างเครดิตของประเทศไทย
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA(tha)'; 'แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'