สกสว. เยี่ยมชมผลการดำเนินงาน ม.บูรพา พร้อมประสานความร่วมมือในการยกระดับการวิจัยด้าน "การแพทย์จีโนมิกส์" และ "การพัฒนากำลังคนด้านหุ่นยนต์" สู่การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดย ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และ ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ พร้อมด้วย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สกสว. เยี่ยมชมผลดำเนินงานศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ คณะเภสัชศาสตร์ และ EEC Automation Park คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี โดยมี ภญ.ดร.ณัฏฐิณี ธีรกุลกิตติพงศ์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ และ ดร.ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ ผู้อำนวยการ EEC Automation Park พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงวัตถุประสงค์การเยี่ยมชมผลดำเนินงาน ว่า ปัจจุบัน สกสว. ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานทั้งในและนอกระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กว่า 170 หน่วยงาน และ 9 หน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) เพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund : FF) และงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) ซึ่งมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ สกสว. จัดสรรงบประมาณด้าน ววน.ให้ เพื่อดำเนินการแผนงานสำคัญ โดยเฉพาะแผนงานวิจัยจีโนมิกส์ แผนงานวิจัยสำคัญ เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานเศรษฐกิจ และแผนงานการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม (Brain Power Skill Up) เพื่อเสริมสร้างทักษะยกระดับเทคโนโลยีการผลิตในประเทศไทยก้าวสู่ Industry 4.0 ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC NETs) ที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ EEC รองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ได้อย่างดียิ่ง
ด้าน ภญ.ดร.ณัฏฐิณี ธีรกุลกิตติพงศ์ กล่าวว่า เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ด้านการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิด "ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์" ในพื้นที่ EEC รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการแพทย์และสุขภาพครบวงจร โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การจัดเก็บฐานข้อมูลดีเอ็นเอคนไทย จำนวน 50,000 คน เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมตัวอย่างจากอาสาสมัครชาวไทย เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ วินิจฉัย สาเหตุของโรคต่างๆได้อย่างแม่นยำ อาทิ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี โรคพันธุกรรม ตลอดจน โรคที่วินิจฉัยยาก และกลุ่มเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อป้องกันการแพ้ยา ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมและทำให้คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงของการดำเนินงานในระยะที่ 2 เพื่อขยายฐานข้อมูลการรักษาไปสู่กลุ่มอื่นๆเพิ่มเติม
ขณะที่ ดร.ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน EEC Automation Park เป็นศูนย์การเรียนรู้และพัฒนากำลังคนด้านออโตเมชันและหุ่นยนต์ ในทุกมิติ ทั้งในส่วนของ LEARNING CENTER ซึ่งเป็นต้นแบบไลน์การผลิตเพื่อก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิด e-F@ctory หรือ โซลูชันที่ผสานรวมระบบการผลิต และ IT เข้าด้วยกัน โดยมุ่งเน้นการเชื่อมต่อของข้อมูลแบบ Real-time ในทุกระดับ ที่จะนำสู่การพัฒนาประสิทธิภาพตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึง Supply Chain ตลอดจนการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการ ที่สนับสนุนการพัฒนาโรงงานให้เป็น Smart Factory เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อีกทั้งเป็นหน่วยบ่มเพาะทักษะและความรู้ด้านการขึ้นรูปชิ้นงานต้นแบบรวมไปถึงความรู้ด้านระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) เพื่อพัฒนานักเรียน นิสิต และบุคคลที่สนใจในการสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อการต่อยอดความรู้ด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สู่การพัฒนาประเทศตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต ประกอบด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือ ให้ผู้เข้าใช้พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย ได้ฝึกทำการทดลอง และลงมือสร้างชิ้นงานจากความคิดและจินตนาการ เกิดการเรียนรู้และความภาคภูมิใจ ที่เป็นพื้นฐานต่อการสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม
อย่างไรก็ดี จากการเยี่ยมชมผลการดำเนินงาน ทั้ง 2 แผนงาน ของมหาวิทยาลัยบูรพา ถือเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญให้กับประเทศไทย