ก.ล.ต. ปรับปรุงระบบการรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาการรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อำนวยความสะดวกให้แก่คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) สอดคล้องกับนโยบายด้านการยกระดับการบริการและกระบวนการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (SEC Digital Services) ตามแผนยุทธศาสตร์ด้านองค์กรนวัตกรรมของ ก.ล.ต.
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงระบบการรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Online Fund Approval and Management System for Provident Fund: OFAM PVD) เพื่อสนับสนุนและลดขั้นตอนงานที่เกี่ยวข้องกับการรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ช่วยให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ บลจ. ดำเนินการได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
สำหรับระบบ OFAM PVD ที่ปรับปรุง เช่น การขอจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน การเปลี่ยนแปลงกรรมการ และการแก้ไขข้อบังคับ รวมถึงในบางกรณีสามารถยื่นคำขอและได้รับอนุมัติโดยอัตโนมัติ (auto approve) นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีมาช่วยตรวจสอบองค์ประชุม มติที่ประชุม และรายชื่อกรรมการกองทุนผู้มีอำนาจลงนาม ในการพิจารณาคำขอจดทะเบียนในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้การอนุมัติคำขอเป็นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วน และช่วยลดการใช้กระดาษ (paperless) โดยลดการยื่นเอกสารหลักฐานของทางราชการและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง
"การปรับปรุงระบบ OFAM PVD ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการยกระดับการบริการและกระบวนการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (SEC Digital Services) อย่างครบวงจร ตามแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ด้านองค์กรนวัตกรรม โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยพัฒนาการให้บริการต่าง ๆ ของ ก.ล.ต. ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวก ลดภาระ และสามารถตอบโจทย์ภาคเอกชนที่ใช้บริการให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยให้ ก.ล.ต. สามารถนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์เพื่อวางแผนแนวนโยบายในการกำกับดูแลและพัฒนาอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อย่างเหมาะสมด้วย" เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 367 กอง จำนวนนายจ้าง 21,496 ราย สมาชิกกองทุน 2.84 ล้านคน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.33 ล้านล้านบาท