ม.มหิดล แนะการจัดการ "เมืองน่าอยู่" ต้องควบคู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday October 12, 2022 16:06 —ThaiPR.net

ม.มหิดล แนะการจัดการ

กว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา กระแส "การพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development: SD)" ในบริบทสากลได้รับความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประชาคมโลกได้ร่วมกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ประกอบกับการมุ่งยกระดับให้สังคมได้ ร่วมพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับท้องถิ่น ๒๑(Agenda 21: LA21)

ขณะที่สังคมไทยเองซึ่งเป็นสมาชิกรัฐภาคีแห่งสหประชาชาติ(United Nations: UN) มีหน้าที่สำคัญที่ต้องยึดหลักการพัฒนาที่ต้องยึดหลักความเป็นธรรม (Equity) ของสังคมทุกภาคส่วน บนพื้นที่ความร่วมรับผิดชอบ และศักยภาพตามสภาวการณ์ของประเทศ ทั้งเป็นประเทศในฐานะประชาคมอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสัยทัศน์ และการยกระดับเมืองที่มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม(Environmentally Sustainable Cities: ESC)

จากแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังกล่าวพบว่าไม่ได้มีแต่เรื่องสังคม และเศรษฐกิจ แต่ได้ให้ความสำคัญไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้ไม่ว่าจะดำเนินโครงการใด จำเป็นจะต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อนเสมอ

การจัดการ "เมืองน่าอยู่" จึงต้องควบคู่ "สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน" กลายเป็นที่มาของ "หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเมืองน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน" จัดโดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นหลักสูตรเดียวในประเทศไทย ที่รวมเอาเรื่องการจัดการเมือง และการจัดการสิ่งแวดล้อมเอาไว้อย่างลงตัวตามแนวทางของ "Agenda21" แห่งสหประชาชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณฑิรา ยุติธรรม ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเมืองน่าอยู่และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การจัดการเมือง โดยใช้มิติของสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า  ปัจจุบันได้มีการประยุกต์ใช้ "การวางแผนยุทธศาสตร์เมือง และเกณฑ์ชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมเมือง" มาเป็นตัวช่วย

เนื่องจากไม่เพียงเรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้นที่สามารถประเมินค่าออกมาเป็นตัวเลข เรื่องของสิ่งแวดล้อมก็สามารถประเมินผลกระทบออกมาเป็นเชิงตัวเลขได้เพื่อการพัฒนาและปรับตัวอย่างยั่งยืน

ตัวอย่างการจัดการเมืองต่างๆ หลักสูตรมีกรณีตัวอย่าง และการฝึกปฏิบัติสำหรับผู้เรียนหลายๆ ตัวอย่าง เช่น กรณีการท่องเที่ยวที่ลักษณะเป็นเกาะซึ่งมีความแตกต่างจากพื้นที่ฝั่งจะต้องมีการประเมินถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติต่างๆให้เกิดความสมดุล

ที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องมีปริมาณน้ำจืดที่เพียงพอต่อการบริโภค รวมทั้งการจัดการปัญหาขยะล้นเกาะ เนื่องจากเมื่อนักท่องเที่ยวล้นเกาะ เนื่องจากเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางกลับส่วนใหญ่มักไม่ได้นำขยะกลับมาฝั่งด้วย เป็นต้น

ซึ่งผู้เรียนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเมืองน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะได้มีการศึกษาลงพื้นที่จริง เพื่อฝึกปฏิบัติ และแก้ปัญหาเมือง ฝึกตั้งโจทย์ประเมิน และเสนอแนวทางจัดการและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนตามหลักวิชาการ ตลอดจนทำหน้าที่คอยเป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้ชุมชนสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

รายวิชาที่น่าสนใจของหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการเมืองน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลอาทิ "เมืองน่าอยู่ (Livable city)", "การวางแผนยุทธศาสตร์เมือง", "สังคมคาร์บอนต่ำ (Low carbon society)", "การวางแผนสิ่งแวดล้อม (Environmental planning)", "มลพิษสิ่งแวดล้อมชุมชน" และ "องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning organization)"

นอกจากนี้ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ "ภูมิปัญญานิเวศท้องถิ่น (Traditional ecological knowledge)", "การประเมินความเปราะบางและการปรับตัว (Vulnerability assessment and adaptation)", "การจัดการความขัดแย้ง(Conflict management)", "การจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนฐานชุมชน (Community based natural resource management)" และ "การจัดการสิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศอาเซียน" ฯลฯ ร่วมด้วย

เชื่อว่าหากเมืองได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ และด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จะนำพาชาติสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs ซึ่งจะตามมาด้วยความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

ติดตามรายละเอียดของหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการเมืองน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ https://graduate.mahidol.ac.th/download/old-news/th/news-events/graduate-programme022.php

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


แท็ก ม.มหิดล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ