UN-GCNT ชี้ "ความหลากหลายทางชีวภาพ" ต้นทุนเศรษฐกิจ เตรียมรวมพลังภาคเอกชน ในงาน GCNT Forum 2022 ต้นพฤศจิกายนนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 18, 2022 10:51 —ThaiPR.net

UN-GCNT ชี้

UN-GCNT ชูประเด็น "ความหลากหลายทางชีวภาพ" วิกฤตสำคัญเหมือนโลกร้อน หวั่นกระทบฐานทรัพยากรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ชวนจับตาการประชุมโลกร้อน COP27 ที่อียิปต์ และการประชุมความหลากหลายทางชีวภาพ COP15 ที่แคนาดา เตรียมรวมพลังสมาชิก GCNT กว่า 100 องค์กร เร่งหาทางฟื้นฟูระบบนิเวศ ต่อยอดธุรกิจ ในงานใหญ่ GCNT Forum 2022 ต้นพฤศจิกายนนี้

นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity loss) เป็นหนึ่งในสามวิกฤตการณ์ของโลก ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหามลภาวะ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องการการแก้ปัญหาโดยอิงธรรมชาติอย่างเร่งด่วน โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติหรือ UNEP ได้ประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ของโลกกว่าครึ่งหนึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้สถานการณ์ที่ธรรมชาติกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ลงทุนในการฟื้นฟูจะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ถึง 30 ดอลลาร์ หรือกล่าวได้ว่าการลงทุน เพื่อปกป้องฟื้นฟูธรรมชาติจะส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้ถึง 30 เท่า

ดร. เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT ร่วมกล่าวเปิดงานว่า องค์กรธุรกิจเริ่มตระหนักถึงระบบนิเวศ ซึ่งจัดเป็นต้นทุนทางธรรมชาติ หรือ Natural Capital ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ รวมถึงเป็นฐานทรัพยากรสำหรับเศรษฐกิจโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อความมั่นคงทางอาหาร ปัจจุบันข้อมูลจาก WWF ระบุถึงสถานการณ์ระบบนิเวศของโลกว่าความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวมลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ข้อมูลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา ลดลงถึง 68% ระหว่างปี 1970-2016 หรือลดลงกว่า 2 ใน 3 ในแถบเอเชีย-แปซิฟิก อันอาจจะนำไปสู่วิกฤตทางอาหารได้ในที่สุด ดังนั้น การรักษาและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติจึงไม่ใช่ทำเพื่อสร้างเสริมภาพลักษณ์องค์กร หรือทำเพื่อสาธารณประโยชน์เท่านั้น แต่เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาธุรกิจ ที่ทุกองค์กรต้องร่วมมือช่วยกัน

"GCNT ในฐานะ local network ของ UN Global Compact ตั้งใจจะขยายความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรต่างๆ ในการนำเสนอโครงการพัฒนาที่เสริมสร้างขีดความสามารถให้กับภาคธุรกิจ โดยงาน GCNT Forum 2022 ที่จะจัดต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง และความคิดด้านการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพด้วย" ดร. เนติธร กล่าว

ในสัมมนาออนไลน์ Investment in Nature and Biodiversity มีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่ร่วมนำเสนอข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาทิ ดร. เทเรซา มันดิต้า                              (Dr. Theresa Mundita S. Lim) ASEAN Centre for Biodiversity ดร.บาลาคริสนา ปิสุพาติ (Dr. Balakrishna Pisupati) UNEP Law Division ดร. ภัทรินทร์ ทองสิมา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดร. เพชร มโนประวิตร โครงการประเมินระบบนิเวศระดับชาติ คุณสุศมา ปิตากุลดิลก บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) คุณพิชชนก เหลืองอุทัย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

โดยทุกฝ่ายได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยชี้ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่ก็มีความเปราะบางและภัยคุกคาม ที่ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือ ด้วยการจัดการอย่างยั่งยืนทั้งระบบ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ การจัดการ เงินทุน รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับประเทศไทย ถือว่ามีความหลายหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับ 20 ของโลก แต่เกือบ 470 สายพันธุ์กำลังเผชิญกับภัยคุกคาม ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่า ไทยยังต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้มากขึ้น จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 31.68% โดยภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ป่าไม้นี้ จะส่งผลโดยตรงต่อระบบนิเวศทางการเกษตร และสุดท้าย ประเทศไทยมีพื้นที่ชายฝั่งกว่า 3,151 กม. แต่ปัจจุบันยังมีการทำประมงผิดกฎหมาย ระบบนิเวศทางทะเลและชายหาดยังคงถูกคุกคาม และต้องการให้ภาคส่วนต่างๆ เร่งเข้าไปดูแล

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีโครงการประเมินระบบนิเวศระดับชาติ (National Ecosystem Assessment:NEA) ที่นำเสนอความรู้ เทคนิค และวิชาการในระดับสากลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ให้กับผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยมีแพลตฟอร์มนำเสนอความรู้ที่กระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหา เช่น Nature-based Solutions และ Blue Carbon โดยมุ่งเน้นในเรื่องของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งประเทศจะได้รับประโยชน์โดยตรง ทั้งด้านการท่องเที่ยว และช่วยรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเด็นสำคัญเร่งด่วนตอนนี้ คือการระดมทรัพยากร โดยเฉพาะการลงทุน ถึงแม้ว่าภาคเอกชนจะสนใจเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก แต่หลายโครงการดำเนินไปโดยขาดองค์ความรู้อย่างครบถ้วน ทำให้ทรัพยากรที่ใช้ไปยังไม่เกิดผลเท่าที่ควร หากเกิดการบูรณาการร่วมกันทางวิชาการและความรู้ของชุมชน จะทำให้เกิดการพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของตัวอย่างการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้ร่วมถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์จากการลงมือทำงานเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพอย่างจริงจัง โดย ปตท. สผ. เปิดเผยว่าได้กำหนดให้การจัดการผลกระทบความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ขององค์กร โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะสร้าง Net Positive Impact ของความหลากหลายทางชีวภาพและบริการทางนิเวศให้ได้ภายในปี 2030 โดยมุ่งปรับปรุงสุขภาพทางทะเล (Ocean Health Index) ภายใต้การดำเนินงาน 3 Clean คือ Clean 1 กระบวนการผลิตที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทางทะเล (Clean & Friendly Operation) Clean 2 การตรวจติดตามสุขภาพของมหาสมุทรและความหลากหลายทางชีวภาพ (Ocean Health & Biodiversity Monitoring) และ Clean 3 การฟื้นฟู ดูแลอนุรักษ์ทะเลอย่างเป็นรูปธรรม (Ramp up CSR around Ocean) โดยจะเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานในเรื่องนี้ให้ผู้สนใจและนักวิจัยสามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย ในส่วนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้ใช้หลักการปลูกป่าปลูกคน สร้างรายได้ให้กับชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่าจากการขายคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ โดยเริ่มจากพื้นที่ดอยตุงกว่า 10,880 เฮกตาร์ ซึ่งคาดว่าจะได้คาร์บอนเครดิตอยู่ที่ 106,788 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมทั้งจะขยายองค์ความรู้ไปสู่ป่าชุมชนทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งทางภาครัฐ ชุมชน และภาคเอกชน

ในช่วงท้ายของงาน นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ GCNT เปิดเผยว่า ปีนี้จะมีความเคลื่อนไหวสำคัญในการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ COP 27 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่อียิปต์ โดยจะเน้นย้ำการลงมือทำอย่างเร่งด่วนและจริงจัง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจากการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็งขึ้น และธันวาคมนี้ จะมีการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (CBD COP 15) ที่แคนาดา โดยผู้นำจากประเทศยักษ์ใหญ่จำนวนมากจะไปร่วมแสดงความมุ่งมั่นอีกครั้ง  สำหรับประเทศไทยเอง ได้เริ่มมีการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนแล้ว คาดว่าจะมีการเริ่มบังคับใช้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในเร็วๆนี้ จึงจำเป็นที่ภาคธุรกิจไทยต้องขยายผลการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่ทางออกระดับประเทศในการป้องกันและแก้ไขปัญหา อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ของสมาชิก GCNT เพื่อเตรียมประกาศความร่วมมือของภาคเอกชนและนำเสนอทางออกต่างๆ ในงานใหญ่แห่งปี GCNT Forum 2022 ที่จะจัดขึ้นต้นเดือนพฤศจิกายนนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ