กลุ่ม KTIS จับมือ 2 พันธมิตรจากสิงคโปร์ เอเวอร์คอมม์ และ บูโร เวอริทาส นำข้อมูลด้านพลังงานทั้งที่ใช้ในกระบวนการผลิต และที่ได้จากการผลิตในธุรกิจชีวภาพ ในโซนนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ มาคำนวณคาร์บอน เครดิต พร้อมวางโรดแมปที่จะก้าวไปสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เผยผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม KTIS ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อก๊าซเรือนกระจก เช่น การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล เยื่อกระดาษจากชานอ้อยที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล ทำให้บริษัทในกลุ่ม KTIS ได้รับการรับรอง ISO14001 มาตรฐาน Bonsucro และ VIVE Programme ยืนยันในเรื่องการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน
นายปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ผู้จัดการโครงการ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่ากลุ่ม KTIS ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัทเอเวอร์คอมม์ (Evercomm) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนจากประเทศสิงคโปร์ และบูโร เวอริทาส (Bureau Veritas) องค์กรด้านการตรวจสอบและออกใบรับรอง จากประเทศสิงคโปร์ ในการวางแนวทางสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และสร้างโอกาสด้านคาร์บอนเครดิต
ทั้งนี้ การลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมคนที่สองของสิงคโปร์ ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
นายปัญญ์ กล่าวว่า ทางเอเวอร์คอมม์เห็นศักยภาพในด้านความยั่งยืนของกลุ่ม KTIS ที่เป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ มีไบโอคอมเพล็กซ์ด้านอ้อย และมีผลิตภัณฑ์ชีวภาพตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต จึงมีโอกาสในด้านคาร์บอนเครดิต และสามารถวางโรดแมปสู่การเป็น Net Zero ของทั้งองค์กรได้ โดยในเบื้องต้น ทางเอเวอร์คอมม์จะนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องของกลุ่ม KTIS ในโซนโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) ไปทำการวิเคราะห์คำนวณคาร์บอนเครดิตของแต่ละกิจกรรมในขั้นต้น ก่อนจะมีการตรวจสอบและรับรองการคำนวณด้วยมาตรฐานของทางบูโร เวอริทาส ซึ่งจะมีการคำนวณทั้งในส่วนแยกการผลิตของแต่ละผลิตภัณฑ์และนำมารวมกันในผลรวมของทั้งกลุ่ม KTIS
"ในระยะแรกจะใช้เวลา 3 เดือนเพื่อการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ คำนวณ ตรวจสอบและรับรองการคำนวณตามมาตรฐานเพื่อรองรับการออกคาร์บอนเครดิต หรือการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ชีวภาพของกลุ่ม KTIS โดยจะเริ่มจากการวิเคราะห์ทางด้านพลังงานเป็นหลัก ทั้งพลังงานที่ได้จากการผลิตในธุรกิจชีวภาพ และพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิต" นายปัญญ์ กล่าว
ผู้จัดการโครงการ กลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า กลุ่ม KTIS ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โดยได้ผลักดันเรื่องการพัฒนากระบวนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม KTIS ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อก๊าซเรือนกระจกอยู่แล้ว เช่น การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล เยื่อกระดาษจากชานอ้อยที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล เป็นต้น ทำให้บริษัทในกลุ่ม KTIS ได้รับการรับรองด้านการจัดการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น ISO 14001 และยังรวมไปถึงการได้รับการรับรองทั้งกระบวนการในห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ในไร่อ้อย เช่น มาตรฐาน Bonsucro และ VIVE Programme ซึ่งยืนยันในเรื่องการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน