finbiz by ttb แนะ11 เคล็ดลับบริหารธุรกิจยุคดิจิทัล ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 21, 2022 13:37 —ThaiPR.net

finbiz by ttb แนะ11 เคล็ดลับบริหารธุรกิจยุคดิจิทัล ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน เงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก ประกอบกับการเกิดดิจิทัล ดิสรัปชัน นับเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องเปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิดจนกระทั่งกลยุทธ์ ที่ต้องมุ่งลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด ทั้งภายในองค์กรและตลอดทั้งซัพพลายเชน

finbiz by ttb นำเสนอ 11 เคล็ดลับความรู้บริหารธุรกิจในยุคดิจิทัล ที่ได้จากหลักสูตรอบรม ttb digital LEAN supply chain รุ่นที่ 17 ตลอดทั้ง 6 วัน ซึ่งจะสามารถช่วยผู้ประกอบการให้ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจอย่างยั่งยืน ได้แก่

  • ท้าทาย ค่าตั้งต้น
    ก่อนจะเริ่มการเปลี่ยนแปลงอะไร คำถาม คือ เรากล้าที่จะ "ท้าทาย ค่าตั้งต้น" หรือไม่ โดยมีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่า กลุ่มพนักงานบริษัทที่มีผลการทำงานดีกว่าเพื่อน ๆ พนักงานเหล่านั้นมักจะมี web browser ที่ต่างออกไปจาก web browser ที่ติดมากับการติดตั้งเครื่องแบบปกติ นั่นเป็นเพราะพนักงานกลุ่มดังกล่าวกล้าที่จะ "ท้าทาย ค่าตั้งต้น" ที่คอมพิวเตอร์บริษัทให้มา ถือว่าเป็นจุดเล็ก ๆ ที่แม้แต่เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ พนักงานเหล่านี้ก็มักจะคิดนอกกรอบ และไม่ได้เพียงแต่ใช้ไป แต่ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงต้องใช้สิ่งนั้น
  • ผู้นำต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง
    ผู้นำในองค์กรทุกระดับมีส่วนในการผลักดันนวัตกรรมในองค์กรและทรานสฟอร์มธุรกิจ โดยต้องเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลง เน้นสื่อสารให้เยอะ ตัดสินใจให้เร็ว ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต เปิดหู เปิดตา เปิดใจ หมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นผู้นำเรื่อง Digital & Data Transformation สร้างวิสัยทัศน์และวิธีใหม่ๆ เมื่อผู้นำทุกระดับมีวิสัยทัศน์ แนวคิด และเชื่อมั่นแล้ว จะสามารถพาองค์กรก้าวข้ามทุกความเปลี่ยนแปลง พัฒนาปรับปรุงองค์กรต่อไปได้
  • โลกที่ผันผวนและสลับซับซ้อน (VUCA World) ที่ต้องรับมือ
    เมื่อโลกปัจจุบันเต็มไปด้วย ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertain) ความซับซ้อน (Complex) สิ่งที่คลุมเครือ (Ambiguous) สิ่งเหล่านี้จัดการได้ด้วย วิสัยทัศน์ (Vision) ความเข้าใจ (Understanding) กลยุทธ์ที่เหมาะสม (Clarify) ความยืดหยุ่นคล่องตัว (Agility) และเมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึงต้องเรียนรู้ที่จะทรานสฟอร์มองค์กรให้เร็วพร้อมรับกับความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการแข่งขันในยุคที่ "Data is the new Oil" การมีข้อมูลคือสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาล
  • อยากสร้างองค์กรนวัตกรรม ต้องเข้าใจ 'ความกลัว' เอาชนะความกลัว และทำองค์กรให้ชัดเจน
    เราได้แบ่งความกลัวออกเป็น 7 ประการ ได้แก่ ความล้มเหลว ความรับผิดชอบ ถูกมองว่าเป็นคนไม่จริงใจ คำวิจารณ์ การตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ การรับความเสี่ยง และการบอกกล่าวออกไป ซึ่งเมื่อมีความกลัว หน้าที่ที่ผู้นำองค์กรต้องพาทุกคนในองค์กรไปพิชิตความกลัวให้ได้ เมื่อใดเอาชนะความกลัวทั้งหมดนี้ได้แล้ว องค์กรจะเกิดความชัดเจน และทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานทุกคนกลับคืนมา อันนำมาสู่การสร้างนวัตกรรม
  • หลักสำคัญ 6 สิ่ง ที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมในองค์กร
    จากการแบ่งปันประสบการณ์ของผู้สร้างนวัตกรรมตัวจริง พบว่า มี 6 หลักสำคัญที่องค์กรจะต้องคำนึงถึง เมื่อต้องการจะเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในองค์กร 1) นวัตกรรมเกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาง่าย ๆ 2) ผู้ลงมือทำ หรือผู้สร้างนวัตกรรมต้องเป็นคนที่คิด เพื่อให้ "In" และมี "Passion" 3) การลงทุนกับนวัตกรรมจะต้องเห็นผลและจับต้องได้เป็นระยะ ๆ ไม่ทุ่มทุนทั้งหมดในครั้งเดียว 4) ก่อนทำนวัตกรรมเราต้องรู้ว่า เมื่อทำสำเร็จจะมีกลุ่มลูกค้ามากพอ 5) หนึ่งโปรเจคที่บรรลุ จะต้องคุ้มทุนสำหรับหลายโปรเจคที่ล้มเหลว และ 6) จังหวะเวลาที่เหมาะสม ต้องทำในวันที่รุ่ง ไม่ใช่วันที่ต้องเอาตัวรอด
  • ควรมีสมดุลที่ดีในการลงทุน ทั้งในเรื่องของบุคลากรและเทคโนโลยี คือองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม
    องค์กรที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมีอัตราการอยู่รอดสูงกว่า และมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าในระยะยาว นวัตกรรมจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในการพัฒนานวัตกรรมมี 6 ปัจจัยที่ส่งผลอย่างมาก แบ่งเป็นปัจจัยด้านบุคลากร และปัจจัยด้านเทคโนโลยี โดยด้านบุคลากร ได้แก่ ความพร้อมของผู้นำ ศักยภาพทีมงาน กระบวนการภายในองค์กร และด้านเทคโนโลยี ได้แก่ เครื่องมือ ข้อมูล และระบบนิเวศ (Ecosystem) ซึ่งองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม ไม่ได้เป็นองค์กรที่มีเทคโนโลยีดีที่สุด แต่มักมีสมดุลที่ดีในการลงทุนทั้งในเรื่องของบุคลากรและเทคโนโลยี
  • ก่อนจะไปลงทุนกับนวัตกรรม ต้อง Lean องค์กรให้ได้ก่อน
    เพราะการลงทุนในนวัตกรรม อาจทำให้เกิดความสูญเปล่าเพิ่มได้อีก หากนวัตกรรมนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จนสุดท้ายอาจกลายเป็นปัญหาใหม่ เช่น ถ้าจะนำระบบ Automatic มาลงในโรงงาน แต่ยังไม่ได้ Lean กระบวนการของเราให้ไม่มีความสูญเปล่า การนำระบบนั้นมาใช้อาจสร้างปัญหาในระยะยาวได้
  • ต้นทุนต่ำ ตอบสนองรวดเร็ว คือกุญแจสำคัญของซัพพลายเชน
    กุญแจสำคัญของซัพพลายเชน คือ ผู้ประกอบการต้องรักษาสมดุลของต้นทุนต่ำ (Efficiency) และการตอบสนองที่รวดเร็ว (Responsiveness) ให้ดี รวมทั้งปรับ 6 องค์ประกอบหลักให้ลงตัว ซึ่งจะช่วยให้ซัพพลายเชนมีประสิทธิภาพ หรือมีการตอบสนองที่ดีมากขึ้น ได้แก่ โรงงาน (Facilities) สต็อกสินค้า (Inventory) การขนส่ง (Transportation) ซึ่งเป็นหัวใจของบริหารซัพพลายเชน การไหลของข้อมูล (Information) และข้อมูลต้องเป็นดิจิทัล การหาแหล่งที่ได้ราคาที่ดี (Sourcing) ต้นทุนและกำไรเป็นตัวตั้งในการกำหนดราคา (Pricing)
  • กดสูตร E + R = O ตอบสนองอย่างไร ได้ผลอย่างนั้น
    ความสำคัญต่อสิ่งที่องค์กรตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ อันนำมาสู่ผลลัพธ์ จึงยึดสูตร E + R = O มีความหมายว่า E (Event) : เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บวกกับ R (Response) : การตอบสนอง จะได้เท่ากับ O (Outcome) ผลลัพธ์ที่เราจะได้รับ R คือตัวแปรที่องค์กรควบคุมได้ การตอบสนองต่อเหตุการณ์ หรือรับมืออย่างไร เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ได้ Outcome ที่ต้องการ
  • 4C ได้ใจลูกค้าหรือผู้บริโภคในยุคสมัยนี้
    การทำธุรกิจในยุคนี้ต้องมี 4C ที่ประกอบด้วย Care จริงใจ ให้ของดี มีคุณภาพ Convenience ผู้บริโภคสมัยนี้ ใจร้อนขึ้นและต้องความสะดวกรอบด้าน เช่น หาของต้องง่าย จ่ายเงินต้องง่าย ซื้อซ้ำก็ต้องง่าย สะดวกทุกทาง Consistency การสื่อสารต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะลูกค้าไม่ได้มีผู้ขายเป็นเรารายเดียวอีกต่อไปแล้ว Complain freak รับฟังเสียงของลูกค้า ให้ความสนใจและแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ก็สะดวกขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก จึงสามารถตอบสนองลูกค้าได้ดี ทั้งในด้านของความสะดวกก็มีเครื่องมือมารองรับมากมาย เช่น เครื่องมือการรับชำระจากธนาคาร เป็นต้น
  • นำเข้า-ส่งออก ผู้ประกอบการต้องไวต่อเหตุการณ์
    ผู้ประกอบการ นำเข้า-ส่งออก ยิ่งจะต้องจับเทรนด์กระแสโลกให้ดี ซึ่งเทรนด์ที่น่าจับตาในขณะนี้ ได้แก่ กระแส Future Food ตลาดใหญ่ที่สนใจการบริโภค Plant-based meat และอย่าตกขบวนรถไฟลาว-จีน การเชื่อมโยงการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือ จีน เพราะการขนส่งสินค้าจะเร็วขึ้น ต้นทุนจะลดลง จับตา RCEP ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้ภาษีนำเข้าสินค้าไทยเหลือศูนย์ทันทีเกือบ 30,000 รายการ ใน 14 ประเทศ เดินหน้า Mini-FTA โอกาสเจาะตลาดเมืองรองของผู้ประกอบการไทย เช่น ไห่หนาน-จีน โคฟุ-ญี่ปุ่น เตลังกานา-อินเดีย กานซู่-จีน และปูซาน- เกาหลีใต้
  • ที่มา : หลักสูตร ttb Digital LEAN Supply Chain รุ่นที่ 17
    อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
    เพียงแอดไลน์ @ttbSME หรือคลิกเพิ่มเพื่อน https://lin.ee/Y1SpBMb

    ttb Digital LEAN Supply Chain โครงการพัฒนาต่อยอดมาจาก ttb LEAN Supply Chain ให้ความรู้ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพให้ซัพพลายเชนอย่างแท้จริงมายาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพหนึ่งในโครงการ finbiz by ttb โครงการเสริมความรู้ธุรกิจผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม พร้อมองค์ความรู้ที่ครบครัน จากพันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจรับมือกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมปรับตัวในยุคดิจิทัลและเติบโตอย่างยั่งยืน

    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ