กระทรวงอุตสาหกรรมผนึกกำลังโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ รวมใจจัดถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุกภัย ย้ำมาตราการป้องกัน-เยียวยา-ฟื้นฟู ด้าน ปลัดฯ ณัฐพล โบกธงปล่อยขบวนรถคาราวาน "อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย" นำเครื่องอุปโภค-บริโภค มอบให้ประชาชนบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ต่าง ๆ เบื้องต้นเตรียมลงพื้นที่จังหวัดชัยนาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมจากพายุที่เคลื่อนตัวผ่านประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมสูงในหลายจังหวัด ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหลายครัวเรือน ทั้งทรัพย์สิน บ้านเรือนประชาชน เส้นทางคมนาคม พื้นที่ทำการเกษตร รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย จึงได้สั่งการให้ดำเนินการภายใต้มาตรการ 3 ระยะ คือ 1.ป้องกัน 2.เยียวยา 3.ฟื้นฟู พร้อมให้กระทรวงฯ ผนึกกำลังกับโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วน
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับวันนี้นับเป็นฤกษ์ดีในการดีเดย์เปิดกิจกรรม "อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย" โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ผนึกกำลังพันธมิตรภาครัฐภาคเอกชน พร้อมโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ปล่อยคาราวานรถขนถุงยังชีพเพื่อนำไปมอบให้ผู้ประสบอุกภัย โดยกระทรวงฯ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่าง ๆ หลั่งไหลธารน้ำใจระดมสิ่งของเครื่องใช้ อุปโภค-บริโภค ที่จำเป็น กว่า 10,000 ถุง อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำตาล น้ำปลา น้ำมัน ยากันยุง ปลากระป๋อง อาหารสำเร็จรูป กระดาษทิชชู น้ำดื่ม และยารักษาโรค เป็นต้น จัดเป็นถุงยังชีพสำหรับนำไปแจกจ่าย ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ โดยจะเริ่มวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท จำนวน 2,000 ถุง เป็นอันดับแรกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ และได้ย้ำให้สำนักงานอุตสาหกรรมในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเร่งสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนเพื่อนำถุงยังชีพไปมอบให้กับประชาชนโดยเร่งด่วนต่อไป
อย่างไรก็ตามในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายนั้น หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย กระทรวงฯ จะเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยออกมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ พักชำระหนี้ สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง และจัดตั้งศูนย์บริการให้คำปรึกษาในการประกอบธุรกิจ รวมถึงการฟื้นฟู โดยจัดทำ Big Cleaning โรงงาน อาคาร บ้านเรือน ทางสาธารณะ และพื้นที่ชุมชน ซ่อมแซม ปรับปรุง ฟื้นฟู อุปกรณ์เครื่องจักร อาคาร สถานที่ของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบให้กลับสู่สภาวะปกติ และได้มาตรฐาน