"RCOST Innovation Fund" โครงการรักษาแขนขาผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกที่ยากไร้และด้อยโอกาส ช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาด้วยอุปกรณ์ทดแทนอวัยวะ

ข่าวทั่วไป Tuesday October 25, 2022 16:02 —ThaiPR.net

ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เปิดตัว "โครงการรักษา แขนขา ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกที่ยากไร้และด้อยโอกาส" เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยที่ยากไร้และด้อยโอกาส ได้เข้าถึงการรักษาด้วยอุปกรณ์ทดแทนอวัยวะ(endoprosthesis) นวัตกรรมของแพทย์ไทยในการผลิตอุปกรณ์ทดแทนอวัยวะรักษาแขนขาผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก โดยวิธีนี้มีความสะดวก และสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกความยาวและลักษณะการตัดกระดูก ผู้ป่วยสามารถลงน้ำหนักได้ทันทีหลังผ่าตัด ช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถ ใช้ชีวิตต่อไปได้ เช่นคนปกติ

ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิแพทย์ออร์โธปิดิกส์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว "โครงการรักษาแขนขา ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกที่ยากไร้และด้อยโอกาส" โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธไนนิธย์ โชตนภูติ ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย, ศาสตราจารย์นายแพทย์อารี ตนาวลี ประธานมูลนิธิแพทย์ออร์โธปิดิกส์, ศาสตราจารย์นายแพทย์ ทิพชาติ บุณยรัตพันธ์ นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และ ประธานรับเลือกราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ แห่งประเทศไทย ร่วมเป็นประธานจัดงานฯ พร้อมด้วย พลโธธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ อดีตประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และ นายแพทย์ปิยะ เกียรติเสวี ผู้คิดค้นนวัตกรรม นอกจากนี้ ได้จัดให้มีพิธีมอบเงินสนับสนุนโครงการฯ จากท่านรองประธานหอการค้าไทยฯ และตัวแทนจากบริษัทจอห์นสันฯ พร้อมทั้งเยี่ยมชมบรรยากาศการจัดงานประชุมวิชาการ "The 44th Annual Meeting of The Royal College of Orthopaedic Surgeons Of Thailand KOA Visiting RCOST Say Yes to the New Adventure" ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติพีช พัทยา

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธไนนิธย์ โชตนภูติ ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ แห่งประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการริเริ่มก่อตั้ง "โครงการรักษาแขนขาผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก ที่ยากไร้และด้อยโอกาส" ในครั้งนี้ว่า เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการทำวิจัย นวัตกรรมของแพทย์ไทยในการผลิตอุปกรณ์ทดแทนอวัยวะรักษาแขนขา ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชน ในการรักษาโรคมะเร็งกระดูกในผู้ป่วยที่ยากไร้ และด้อยโอกาส ได้เข้าถึงการรักษาด้วยอุปกรณ์ทดแทนอวัยวะ (endoprosthesis) โดยวางเป้าหมายการดำเนินงานประมาณการผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ จำนวน 250 รายภายใน 5 ปี (เฉลี่ยปีละ 50 ราย) ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน

สำหรับการใช้อุปกรณ์ทดแทนอวัยวะ (endoprosthesis) สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ bone recycling, allograft, allo-auto-prosthesis และ endoprosthesis โดยแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อจำกัด ที่แตกต่างกันไป การรักษาด้วยวิธีนี้มีความสะดวก และสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกความยาวและลักษณะการตัดกระดูก ผู้ป่วยสามารถลงน้ำหนักได้ทันทีหลังผ่าตัด อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัด เรื่องการเบิกจ่ายและราคาที่สูง โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 150,000-500,000 บาทต่อการรักษา เพราะส่วนใหญ่อุปกรณ์ฯจะเป็นของที่ผลิตและนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึง การรักษา นำไปสู่การสูญเสียอวัยวะ เกิดความพิการ และส่งผลต่อคุณภาพในการใช้ชีวิตเป็นอันมาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ในประเทศไทยของเรามีผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่จะทำ endoprosthesis ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการรักษาได้ในราคาที่ถูกกว่าอุปกรณ์ฯนำเข้าเป็นอย่างมาก ราชวิทยาลัยฯจึงได้ร่วมกับมูลนิธิแพทย์ออร์โธปิดิกส์ จัดตั้ง RCOST Innovation Fund ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกที่ยากไร้และด้อยโอกาส

สำหรับโรคมะเร็งกระดูกเป็นโรคที่เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อกระดูกที่เกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนผิดปกติ ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็งหรือแผลมะเร็งในเนื้อเยื่อกระดูก มักพบในเด็กโตและเยาวชน ช่วงอายุประมาณ 10 - 20 ปี โดยมีอุบัติการณ์ประมาณ 0.8 คนต่อประชากรแสนราย จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ ปี 2563 จำนวน 66.19 ล้านคน จะพบผู้ป่วยมะเร็งกระดูกประมาณ 529 คน เป็นผู้ป่วยเด็กประมาณ ร้อยละ 61 จากข้อมูลทะเบียนผู้ป่วยมะเร็งเด็กปี 2546 พบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งเด็กจำนวน 999 คน คิดเป็นผู้ป่วยมะเร็งกระดูกเด็ก 59 คน โดยมีทั้งชนิดปฐมภูมิและทุติยภูมิ อาการที่สำคัญของโรคมะเร็งกระดูก ได้แก่ อาการปวด การเจอก้อนผิดปกติ กระดูกหักจากพยาธิสภาพ ความผิดปกติของระบบประสาท อาการข้ออักเสบ รวมถึงอาการอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้ โลหิตจาง ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ซึ่งสาเหตุของเซลล์มะเร็งที่ก่อตัวขึ้นบริเวณกระดูกยังไม่ทราบ ได้ชัดเจน โดยปัจจุบันทางการแพทย์พบว่า ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่ ความผิดปกติ ทางพันธุกรรม การกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมี ยาฆ่าแมลง และสารรังสี รวมถึงการรักษา ในปัจจุบัน เช่น การให้เคมีบำบัด การใช้รังสีรักษา โดยการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูกสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพทางการแพทย์ และการตรวจชิ้นเนื้อ

การรักษามะเร็งกระดูกใช้การผ่าตัดเป็นการรักษาหลักร่วมกับการฉายแสงและการให้เคมีบำบัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งให้หมด ปัจจุบันมีการแนะนำการผ่าตัดแบบเก็บอวัยวะ (limb-salvage/limb-sparing surgery) เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้เช่นคนปกติ เนื่องจากใน บางกรณีการผ่าตัดอาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะของผู้ป่วยทิ้ง นำไปสู่การสูญเสียอวัยวะ เกิดความพิการ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตและความสามารถในการใช้ชีวิตลดลง อีกทั้งทำให้ผู้ป่วยมีรูปลักษณ์เปลี่ยนแปลงไปจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทดแทนอวัยวะเพื่อรักษาอวัยวะของผู้ป่วยไว้

"ปัจจุบันโรคมะเร็งกระดูกเป็นปัญหาหลักและเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรได้รับการแก้ไขเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการให้การรักษาโดยอุปกรณ์ทดแทนอวัยวะ (endoprosthesis) โดยเรา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมาก นอกจากนี้ในแง่ของการเผยแพร่องค์ความรู้และการสร้างความตระหนักในสังคม เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนตลอดจนประชาชนทั่วไป เห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาวะที่ดีของผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกที่ยากไร้และด้อยโอกาสในสังคมไทย ศาสตราจารย์นายแพทย์ธไนนิธย์ กล่าวสรุป" ทั้งนี้ ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค สนับสนุนการดำเนินการโครงการฯโดยเงินบริจาคของท่านจะได้ช่วยสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ให้กับประเทศไทยและยังได้ช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งกระดูก ที่อาจจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศของเราในอนาคต

สามารถร่วมบริจาคได้ที่ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระบารมี โทร. 02-716-5436-7 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.rcost.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ