กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--กรีนพีซ
กรีนพีซจัดนิทรรศการภาพถ่ายภายใต้หัวข้อ “วิกฤตน้ำ วิกฤตชีวิต” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาวิกฤตมลพิษทางน้ำในประเทศไทยที่มาจากแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมและชุมชน รวมถึงภาพของสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนักและมีส่วนร่วมในการแก้ไขและป้องกันปัญหามลพิษทางน้ำอย่างเร่งด่วน
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ และรับฟังสถานการณ์และปัญหาเกี่ยวมลพิษทางน้ำ และอธิบายแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรมต่อการแก้ปัญหามลพิษทางน้ำโดยจะเข้าไปตรวจสอบดูแลโรงงานอุตสาหกรรมให้มีการติดตั้งระบบน้ำเสียที่มีมาตรฐานและเป็นไปตามระเบียบของกฎกระทรวง ยึดหลักธรรมาภิบาล ร่วมกันรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤตน้ำในด้านปริมาณและคุณภาพ แหล่งน้ำจืดที่มีคุณภาพดีของไทยมีอยู่จำกัด และกำลังลดลงจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง(1) โดยมีสาเหตุจากปัญหาการปล่อยมลพิษลงสู่แหล่งน้ำ ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางน้ำที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยความสุขชุมชนมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญล่าสุด(2) ระบุว่าร้อยละ 86.5 ของชาวกรุงเทพฯและปริมณฑลมีความคิดเห็นว่ามลพิษทางน้ำเป็นปัญหาสำคัญของประเทศและควรรีบเร่งแก้ไขป้องกันอย่างเร่งด่วน
“ประเทศไทยมีปริมาณน้ำจืดต่อหัวน้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (3) ในขณะที่ปริมาณความต้องการน้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง(4) ซ้ำร้ายทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยยังต้องเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับปริมาณน้ำ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้วิกฤตน้ำด้านปริมาณจะทวีความรุนแรงหนักขึ้น หากรวมกับปัญหาการเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่องอีก ไม่นานก็คงเกิดเป็น วิกฤตชีวิต ซึ่งคนไทยทุกคนคงไม่อยากให้เกิดขึ้น” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
นิทรรศการยังนำเสนอทางออกของปัญหามลพิษทางน้ำสำรับทุกภาคส่วน โดยภาคอุตสาหกรรมควรมีความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม และมุ่งสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด นำหลักบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมมาเป็นแนวคิดพื้นฐานสำหรับวางแผนปฏิบัติงาน และทำให้อยู่ในวงจรการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลควรบูรณาการการจัดการปัญหามลพิษทางน้ำและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เข้ารวมไปกับการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ให้ความสำคัญกับปัญหามลพิษทางน้ำ ปรับปรุงข้อกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด ส่วนประชาชนควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บริโภคแต่พอดี ไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ และมีส่วนร่วมในการปกป้องแหล่งน้ำจากมลพิษ(5)
“นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะเริ่มจัดการและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำอย่างจริงจัง สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดในภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญ ขอให้เป็นความหวังของกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมซึ่งไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา” นายพลาย กล่าวสรุป
นิทรรศการ “วิกฤตน้ำ วิกฤตชีวิต” เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2551 ชั้น 3 โซนอีเดน ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม และสามารถชมภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลจากการประกวดได้ที่ www.greenpeace.or.th
กรีนพีซเป็นองค์กรอิสระที่ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนสันติภาพ
หมายเหตุ
(1) ข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำสำคัญในประเทศไทยโดยกรมควบคุมมลพิษ ระหว่างปี พ.ศ. 2545-2549 บ่งชี้ว่าจำนวนแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีลดลงจากร้อยละ 40 เหลือเพียงร้อยละ 20 คุณภาพน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมและพอใช้เท่านั้น
(2) รายงานผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับมลพิษทางน้ำที่จัดทำโดย ABAC POLL สามารถดาวน์โหลดได้ที่http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/water-poll
(3) ในปี พ.ศ. 2548 มีปริมาณ 6,460 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีปริมาณน้ำต่อหัว 57,640 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี กัมพูชามี 32,880 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี พม่ามี 20,870 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี และเวียดนามมี 10,810 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี
(4) ในปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยมีความต้องการการใช้น้ำ 37,065 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2567 ความต้องการการใช้น้ำจะเพิ่มสูงถึง 38,441 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ความต้องการการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเป็นความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยเพิ่มสูงขึ้นถึง 81.41% จาก 2,227 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี พ.ศ. 2547 เป็น 4,040 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี พ.ศ. 2567
(5) สามารถดูนิทรรศการ online ได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/photosvideos/slide-show-stories/water-photo-exhibit
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ โทร. 0 2357 1921 ต่อ 135, 08 1658 9432
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร. 0 2357 1921 ต่อ115, 08 9487 0678