ไมโครซอฟท์เดินหน้าสานต่อโครงการ Global Skills Initiative (GSI) โครงการระดับโลกที่ช่วยเสริมสร้างทักษะของไมโครซอฟท์ สานต่อจากก่อนหน้านี้ที่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย โดยคุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน ที่มุ่งยกระดับคุณภาพแรงงานผ่านทักษะเชิงดิจิทัลแก่แรงงานไทยทั่วประเทศด้วยการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลพร้อมเทคโนโลยีจากไมโครซอฟท์ วันนี้เดินหน้าสานต่อกับการสนับสนุนหน่วยงานด้านการศึกษา และหน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ กับการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการอบรม ASEAN Cybersecurity Skilling (ACSP) เพื่อสร้างเสริมทักษะที่จำเป็นในการทำงานให้กับเยาวชน กลุ่มนักเรียน นักศึกษาไทยกว่า 54,000 คน อันจะกลายมาเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะก้าวเข้ามาพัฒนาประเทศในอนาคต
ยกระดับทักษะดิจิทัลทางด้านภาษาให้คนไทย 50,000 คนด้วยเทคโนโลยีที่ใช้งานและวัดผลได้จริง
เมื่อเร็วๆ นี้ ไมโครซอฟท์ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นสถาบันภาษาแห่งแรกในประเทศไทยที่ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในการนำเทคโนโลยีทางด้านการศึกษา ทั้งนวัตกรรม และเครื่องมือต่างๆ ที่อยู่ใน Microsoft Teams for Education เช่น Reading Progress มาช่วยพัฒนาทักษะด้านการอ่านภาษาอังกฤษให้กับผู้เรียน โดยโปรแกรมถูกออกแบบมาเพื่อให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนสามารถใช้งานร่วมกัน จนเกิดเป็นการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ มีการนำเทคโนโลยี AI อันชาญฉลาดมาช่วยวัดผลสำเร็จของการศึกษาได้จริง เกิดเป็นมิติใหม่ของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ โดยในปีแรกตั้งเป้าหมายเป็นการสร้างทักษะการเรียนรู้ด้าน English and Digital Literacy ให้กับคนไทยจากทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อการก้าวข้ามขีดจำกัดในการเรียนภาษาด้วยเทคโนโลยีจากไมโครซอฟท์ที่ตอบโจทย์ผู้เรียนอย่างแท้จริง
Reading Progress จะสามารถสร้างโอกาสในการเรียนรู้เสริมความคล่องทางภาษา เมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการ และยังมีประสิทธิภาพ เสมือนเทรนเนอร์ที่คอยบอกให้ผู้เรียนปรับปรุงการออกเสียงพร้อมแนะนำได้อย่างแม่นยำ มีคอร์สต่างๆ ที่สามารถจัดทำขึ้นมาตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละบุคคล เพื่อผู้เรียนอย่างมี structure และ นำ AI มาช่วยอ่านแม้กระทั่งรูปปากในการออกเสียงช่วยประหยัดเวลาในการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้นรวมถึงผู้สอนเองหรือองค์กรระดับใหญ่ทางด้านการศึกษาก็จะได้ทราบข้อมูลเชิงลึกของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อจะได้รู้ว่าความสามารถของผู้เรียนทั้งหมด ข้อดีและจุดที่ต้องเสริมของแต่ละคนจากข้อมูลเชิงลึกที่มาจากข้อมูลจริง
รองศาสตราจารย์ ดร.สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน ผู้อำนวยการสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "สถาบันภาษามีวิสัยทัศน์ คือการเป็นผู้นำทางด้าน English Language Education โดยมีเป้าประสงค์ทางกลยุทธ์ระยะยาวถึงปี 2569 ที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียนในลักษณะของ Innovative Learning Experience โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนได้พัฒนาภาษาอังกฤษในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุน ความร่วมมือกับไมโครซอฟท์นับเป็นการเดินหน้าสู่ความสำเร็จตามเป้าประสงค์ทางกลยุทธ์ของสถาบันภาษา ในการนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านทักษะภาษาอังกฤษด้วย Artificial Intelligence (AI) จะเข้ามาช่วยขยายความสามารถด้านการเรียนการสอน และขีดจำกัดในการเรียนรู้แบบ Lifelong Learning พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางทางความรู้และบริการวิชาการที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยเทคโนโลยีให้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 40,000 คน และบุคคลภายนอก จำนวน 10,000 คน ซึ่งตอบโจทย์สอดคล้องกับหนึ่งในเป้าประสงค์ทางกลยุทธ์ของสถาบันภาษาคือ English for All"
นางชนิกานต์ โปรณานันท์ กรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจภาครัฐและการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ไมโครซอฟท์มองเห็นว่าภาคการศึกษามีการปรับตัวเป็นอย่างมาก และเทคโนโลยีถูกนำมาประยุกต์ใช้ในทุกมิติของการเรียนการสอนในปัจจุบัน การร่วมมือกับสถาบันภาษาโดยนำ Reading Progress ใน Microsoft Teams for Education ที่ใช้ AI มาพัฒนาการเรียนการสอนจะทำให้เกิดผลลัพธ์ทางด้านภาษาที่ดียิ่งขึ้น จะไม่เพียงเข้ามาเสริมสร้างทักษะและพัฒนาประสบการณ์ด้านการเรียนรู้แก่นักศึกษา แต่ยังช่วยเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนองค์รวมอีกด้วย ปัจจุบันความหลากหลายทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม ผลักดันให้ผู้เรียนต้องสื่อสารได้มากกว่าหนึ่งภาษา การสอนภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ไมโครซอฟท์จึงอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ภาคการศึกษาที่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ดียิ่งกว่าด้วยพลังของเทคโนโลยี สอดรับกับเป้าหมายของไมโครซอฟท์ในการเป็น Technology for All ที่ช่วยสร้างทักษะดิจิทัลให้กับคนไทย จนเกิดเป็น New S-curve ในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0"
ยกระดับทักษะดิจิทัลทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้คนไทย 4,000 คนด้วยหลักสูตรการอบรมที่ใช้กับผู้เรียนใน 7 ประเทศทั่วโลก
ไมโครซอฟท์เล็งเห็นว่าความปลอดภัยด้านไซเบอร์เป็นตัวแปรสำคัญต่อการนำพาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยด้านดิจิทัลมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อสร้างความรู้พื้นฐานในการรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ไมโครซอฟท์จึงได้จัดทำโครงการ ASEAN Cybersecurity Skilling (ACSP) เพื่ออบรมเยาวชนโดยเฉพาะผู้หญิงจำนวน 30,000 คนใน 7 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ซึ่งสำหรับประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 4,000 คนที่จะได้รับการอบรมจากวิทยากรด้วยเนื้อหาการอบรมระดับต้นจากไมโครซอฟท์ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนหันมาสนใจพัฒนาทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การอบรมครั้งนี้จะเป็นการสอนให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เบื้องต้น ผ่านคุณครูจำนวน 80 คน โดยได้เปิดตัวโครงการและอบรมคุณครูในประเทศไทย วันพุธที่ 26 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และถ่ายทอดผ่าน Microsoft Teams ไปยังวิทยากรทั่วประเทศ โดยไมโครซอฟท์ได้เชิญพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มาร่วมกล่าวเปิดงาน
"ในฐานะตัวแทนจากหน่วยงานที่ขับเคลื่อนประเทศตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่สนับสนุนและเร่งพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เล็งเห็นว่าการสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์นั้นมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการเริ่มปลูกฝังการพัฒนาทักษะในกลุ่มเยาวชนนักเรียน นักศึกษา ที่นับเป็นกลุ่มที่สนใจเรียนรู้ภัยไซเบอร์มากที่สุดในประเทศไทย ความร่วมมือครั้งนี้กับไมโครซอฟท์ในโครงการ ASEAN Cybersecurity Skilling จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเยาวชนรวมถึงผู้หญิง ผู้ด้อยโอกาส สตรีเพศสภาพ และผู้พิการ ในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยไซเบอร์ ขยายขอบเขตการเรียนรู้ เพื่อบ่มเพาะความสามารถเปิดโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี การเรียนรู้ด้านความปลอดภัยด้านไซเบอร์ในครั้งนี้นับเป็นการสานต่อเป้าหมายในการนำความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เข้ามาขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐให้เข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายคือการสร้างบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมทางด้าน Cyber Security Skill ในประเทศให้ได้มากที่สุด ซึ่งบุคลากรถือเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญและกำลังหลักในพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้อย่างแข็งแกร่ง" พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าว
นางสุภาณี อนุวงศ์วรเวทย์ กรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและปฎิบัติการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด "ไมโครซอฟท์มีความมุ่งมั่นในการนำดิจิทัลเข้ามาเสริมทักษะให้กับทุกคน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทักษะดิจิทัลที่ใช้งานได้จริงและเพิ่มมูลค่าให้กับหน้าที่การงานและการดำรงชีวิตของทุกคน พร้อมปรับตัวรับสถานการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัล และสามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานในบ่มเพาะความสามารถและสร้างงานสร้างอาชีพในอนาคต โดยสายงานทางด้าน Cyber security นั้นเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดงาน ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการต่อยอดนำเอาความรู้ไปสร้างงานให้กับตนเองและผู้อื่นได้ ดิฉันต้องขอขอบพระคุณหน่วยงานและพันธมิตรทุกราย กับความร่วมมือในครั้งนี้ ดิฉันเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของเทคโนโลยี จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ด้านภาษาและด้านความมั่นคงด้านไซเบอร์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และจะเติมเต็มความตั้งใจของเรากับเส้นทางการสร้างทักษะเชิงดิจิทัลให้กับคนไทย พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประเทศไทยไปด้วยกันอย่างแข็งแกร่ง"