กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--สวทช.
จากการที่โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมฉีดพลาสติก (Plastic Injection Industry) จากประเทศเยอรมัน โดยผ่านองค์กร Senior Experten Service (SES) คือ Mr.Wilhelm Schmidt และผู้เชี่ยวชาญไทย คือ ดร.พีระวัฒน์ สมนึก ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์สูงในด้านการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกทั้งทางด้านหลักวิชาการและโดยเฉพาะในงานปฏิบัติจริง เข้าไปให้คำปรึกษาแก่กลุ่มอุตสาหกรรมฉีดพลาสติก ในด้านงานออกแบบแม่พิมพ์ ทั้งในส่วนของ conceptual and engineering mold design รวมไปถึงการปรับตั้งเครื่องฉีดพลาสติกที่เหมาะสม
ซึ่งพบว่าปัจจุบันบุคลากรในด้านนี้ยังขาดความรู้และประสบการณ์ที่มีหลักวิชาการมาส่งเสริมน้อยมาก อีกทั้งมีหน่วยงานที่เปิดการอบรมในเรื่องการออกแบบแม่พิมพ์โดยเน้นการปฏิบัติในรูปแบบดังกล่าวมีปริมาณที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งไม่มีการผลิตบุคลากรที่จบทางด้านนี้โดยตรงจากสถานศึกษาภายในประเทศและจากการประเมินผลโครงการของกลุ่มอุตสาหกรรมฉีดพลาสติก
ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้งานฉีดพลาสติกขาดประสิทธิภาพ คือ แม่พิมพ์ไม่ได้มาตรฐาน โดยเราได้ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพแม่พิมพ์ ที่เป็นส่วนสำคัญในการลดปริมาณสูญเสียของชิ้นงาน การลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ความคุ้มทุนในงานฉีดพลาสติก ศักยภาพในการผลิตสินค้า จึงทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงและมีกำไรเพิ่มขึ้น และจากสภาวะการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันทำให้ผู้รับจ้างผลิตชิ้นส่วนพลาสติกจำเป็นต้องมีความสามารถทางด้านการออกแบบชิ้นส่วน รวมไปถึงการผลิตแม่พิมพ์เอง
ดังนั้น โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) จึงได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) จัดทำโครงการ “การพัฒนาเทคนิคการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกอย่างมืออาชีพปี 2008” โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย และสมาคมแม่พิมพ์ ในการจัดการอบรมและสัมมนาแก่ ผู้ประกอบการ SMEs วิศวกร ช่างเทคนิค หัวหน้าฝ่ายผลิต และผู้ที่เกี่ยวข้องในการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก
รศ.ณรงค์ วรงค์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) กล่าวว่า จุดมุ่งหมายหลักในการจัดอบรมสัมมนาครั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ในครัวเรือน บรรจุภัณฑ์พลาสติก และอื่นๆ ให้สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพและรวดเร็วขึ้น โดยใช้แม่พิมพ์ฉีดพลาสติกที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพสูง อันจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง กำไรสูงขึ้น และอาจรวมไปถึงการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการที่มีหน่วยผลิตแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกให้ออกแบบและผลิตแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการถ่ายทอดทักษะและความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และมีความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ซึ่งในครั้งนี้ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กร SES ประเทศเยอรมัน Mr.Wilhelm Schmidt มาเป็นวิทยากรหลักในการอบรมภาคทฤษฎีพื้นฐานและยังจะได้เข้าไปให้คำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่องที่โรงงานมีอยู่ รวมถึงแนะแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาโดยการปฏิบัติจริงภายในบริษัท ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญไทยเข้าร่วมด้วยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย ส่วนผู้เชี่ยวชาญไทยจะมี ดร.ภัทราพร กมลเพ็ชร จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ร่วมบรรยายไทย และ ดร.พีระวัฒน์ สมนึก เป็นวิทยากรไทยในหลักสูตรเพิ่มเติม
รศ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ผู้เข้ารับการอบรมครั้งนี้จะได้รับทักษะ ความรู้ เทคนิค และประโยชน์ต่างๆ มากมายทั้งในเรื่องของพื้นฐานการฉีดพลาสติก มาตรฐานการออกแบบแม่พิมพ์ รวมถึงการปรับตั้งเครื่องฉีดด้วยระยะ และด้วยเวลา และการคำนวณต้นทุนการบำรุงรักษาแม่พิมพ์และเครื่องฉีด เทคนิคการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์พลาสติก รวมทั้งมาตรฐานการจัดการด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการผลิตแบบ OEM เป็นต้น