ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีปี 2565 แตะ 14.1% จากการเติบโตของจีดีพีขยายตัวต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุนการขนส่งที่ขยับตัวสูงจากภาวะน้ำมันแพงและการขาดแคลนซัพพลายภาคขนส่ง ทั้งนี้ คาดปี 2566 สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีปรับลดจากต้นทุนค่าขนส่งที่เริ่มทรงตัวบนทิศทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราเร่งแนะภาครัฐเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงโหมดการขนส่ง และสนับสนุนอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-Curve ที่มีมูลค่าสูง เพื่อลดสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีในระยะยาว
ระบบโลจิสติกส์เป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการค้าที่ส่งผ่านสินค้าจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ อย่างไรก็ดี ต้นทุนโลจิสติกส์เป็นต้นทุนส่วนเพิ่มที่ไม่เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต ส่งผลให้ค่าขนส่งดังกล่าวอาจลดทอนกำไรของผู้ขาย ดังนั้น การที่ต้นทุนโลจิสติกส์มีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) เปรียบเหมือนสัดส่วนของรายได้ที่ถูกนำไปใช้ในเรื่องขนส่ง ซึ่งข้อมูลปี 2564 ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่าประเทศไทยมีสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพี 13.8% สูงกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และ ญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วนที่ 8%, 8.6%, และ 8.5% ตามลำดับ แม้แต่เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีสัดส่วน 12.9% ประเทศไทยก็ยังมีสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีที่สูงกว่าสะท้อนให้เห็นถึง ความเสียเปรียบในด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่กระทบต่อการตัดสินใจการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการต่างชาติจากค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปเพื่อการจัดส่งและบริหารจัดการสินค้าที่สูงกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
ในปี 2565 ttb analytics ประเมินสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีเพิ่มสูงแตะ 14.1% ลดทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ จากต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำที่มีค่าระวางตู้สินค้าสูงกว่าปีก่อนหน้าราว 60% รวมถึงกลุ่มสินค้าที่ขนส่งคราวละมาก ๆ โดยไม่มีภาชนะบรรจุสินค้า ใช้วิธีขนส่งโดยเทสินค้าลงในระวางเรือใหญ่ หรือเรียกว่า สินค้าเทกอง ที่แม้ค่าระวางมีการปรับลงราว 30% แต่ถูกชดเชยด้วยปริมาณขนส่งที่เพิ่มขึ้นกว่า 47% และต้นทุนการขนส่งทางถนนที่ขยายตัวทั้งด้านปริมาณและค่าขนส่งที่ขยับตามราคาน้ำมันที่อยู่ระดับสูงตลอดทั้งปี ทั้งนี้ คาดสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีอาจมีทิศทางปรับตัวลดลงในปี 2566 ที่ 13.4% จากค่าขนส่งที่คาดว่าจะทรงตัวจากการที่ปรับสูงขึ้นอย่างมากในปี 2565 อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาหรือแม้แต่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่าตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ ดังนั้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากผู้ประกอบการต่างชาติ การลดสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพี จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องปรับลดลงให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ ดังต่อไปนี้
โดยสรุป สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพี สะท้อนต้นทุนของผู้ประกอบการที่ต้องแบกภาระค่าขนส่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 16.7% จึงไปลดทอนส่วนกำไรของผู้ประกอบการลง ดังนั้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ การพัฒนาโครงสร้างขนส่งและการบริหารจัดการด้านขนส่งที่ดี จะช่วยให้ภาระส่วนเพิ่มจากการขนส่งมีแนวโน้มลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เป็นปัจจัยหลักด้านพัฒนาศักยภาพการผลิตของไทยในระยะยาวได้