เอสซีจี เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2565 ยอดขายและกำไรลดลง จากวิกฤตต้นทุนพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงและผันผวนอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ รวมทั้งวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงถึงจุดต่ำสุดในรอบ 20 ปี SCGC กระทบหนักจากต้นทุนวัตถุดิบสูงและกำลังการผลิตใหม่เกินความต้องการตลาด ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเจอพิษต้นทุนพลังงานพุ่ง ส่วน SCGP ยังไปได้ดี แม้เจอความผันผวนพลังงาน ภาพรวมเอสซีจีมีสถานะการเงินแข็งแกร่ง จากการคุมเข้มสภาพคล่อง เน้นลงทุนอย่างรอบคอบในธุรกิจศักยภาพสูงและยั่งยืน พลิกเกมส์เชิงรุกเข้าสู่ 3 ธุรกิจใหม่ 1) พลังงานหมุนเวียน 2) ธุรกิจโลจิสติกส์ ครบวงจรรายใหญ่ในอาเซียน 3) ธุรกิจ Smart Living มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตให้สะดวก คุ้มค่า ปลอดภัย รักษ์โลก มั่นใจเป็นธุรกิจศักยภาพสูงตอบเมกะเทรนด์โลก
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ผลประกอบการเอสซีจี ไตรมาส 3 ปี 2565 ได้รับผลกระทบอย่างสูงจากวิกฤตต้นทุนพลังงานรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี สืบเนื่องจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนพลังงานเอสซีจีเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งวัฏจักรปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี นอกจากนั้น เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มชะลอตัวจากการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นทั่วโลก ประกอบกับนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน ยังทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว
เอสซีจีมีความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตซ้อนวิกฤตครั้งนี้ โดยยังคงรักษาเสถียรภาพทางการเงินอย่างแข็งแกร่ง ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม ทบทวนการลงทุนและชะลอโครงการใหม่ที่ไม่เร่งด่วน มุ่งโครงการที่ผลตอบแทนเร็ว สอดคล้องกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจ อาทิ โครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP เวียดนาม ซึ่งมีความคืบหน้าตามแผน ร้อยละ 97 นอกจากนั้น ในไตรมาส 3 ปี 2565 ได้ออกหุ้นกู้ทั้งกลุ่มรวม 35,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น เร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างทันท่วงที ด้วยการเข้าสู่ 3 ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูงและตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก ได้แก่
น่าพอใจ โดยใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และเชื้อเพลิงจากขยะ (Refused Derived Fuel : RDF) ทดแทนพลังงานฟอสซิล โดยไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ธุรกิจซีเมนต์ในประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 จากเชื้อเพลิงทั้งหมดในการผลิต ส่งผลให้ช่วง 9 เดือนของปี 2565 เอสซีจีมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 34 จากร้อยละ 18 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และพลังงานแสงอาทิตย์ 195 เมกะวัตต์ (ณ เดือนกันยายน ปี 2565) อีกทั้งต่อยอดเป็นธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจรสำหรับตลาดที่อยู่อาศัย โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ SCG Solar Roof Solutions และบริษัท เอสซีจี
คลีนเนอร์ยี จำกัด (SCG Cleanergy) และพัฒนาระบบซื้อขายไฟฟ้าได้ผ่านแพลตฟอร์ม Smart grid มีฐานลูกค้า
ชั้นนำครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน
ล่าสุด SCGC ร่วมลงทุนกับบริษัท Denka ประเทศญี่ปุ่น ผลิตอะเซทิลีนแบล็ค (Acelylene Black) ใช้เป็นส่วนประกอบในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์จไฟได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และใช้เป็นวัสดุสำหรับ
ผลิตสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง
- SCG Active AIR Quality SCG Bi-ion และ SCG HVAC Air Scrubber โซลูชันจัดการคุณภาพอากาศ กำจัดเชื้อโรค และลดการใช้พลังงานในอาคาร ขณะนี้ได้ติดตั้งแล้วที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาล อาทิ ศิริราช ราชวิถี ราชพิพัฒน์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห้างสรรพสินค้า อาทิ เทอร์มินอล 21 พัทยา เซ็นทรัล อยุธยา อาคารสำนักงาน อาทิ เอสซีจี สำนักงานใหญ่ Kloud by Kbank อาคารอับดุลราฮิม โซน lobby และสถาบันการศึกษา อาทิ วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนเซนต์ดอมินิก โรงเรียนอำนวยศิลป์
- Trinity IOT Ecosystem เทคโนโลยีควบคุมการเปิด-ปิดนวัตกรรมในบ้านอัจฉริยะ
- Wellness Home Hub เทคโนโลยีวัดค่าสุขภาพของผู้อาศัยในบ้าน หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะแจ้งเตือน
ไปยังโรงพยาบาลได้ทันที
นอกจากนี้ SCGC ลงทุนซื้อหุ้นร้อยละ 70 ซื้อหุ้นในบริษัทซีพลาสต์ (Sirplaste) ประเทศโปรตุเกส เดินหน้าขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง SCGC GREEN POLYMER ป้อนตลาดยุโรปและแอฟริกา ขณะเดียวกัน SCGP ได้ขยายการลงทุนสู่ตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูง (Deltalab, S.L.) ประเทศสเปน ส่งออกครอบคลุมตลาดทั่วโลก ทั้งยังขยายกิจการรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ซึ่งมีความต้องการสูงและตอบเทรนด์รักษ์โลก ได้แก่ Peute Recycling B.V. (Peute) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Jordan Trading Inc. (Jordan) ประเทศสหรัฐอเมริกา
งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ในไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2565 มีรายได้จากการขาย 142,391 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามความต้องการของตลาดที่ลดลง สืบเนื่องจากวัฏจักรขาลงของธุรกิจเคมิคอลส์ และมีกำไรสำหรับงวด 2,444 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 75 จากไตรมาสก่อน จากส่วนต่างราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับลดลง ต้นทุนพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับในไตรมาสก่อนเป็นช่วงที่มีรายได้ เงินปันผลรับ ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 สาเหตุหลักจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและธุรกิจแพจเกจจิ้งมีราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาด ในขณะที่กำไรสำหรับงวดลดลงร้อยละ 64 เนื่องจากส่วนต่างราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง รวมทั้งส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2565 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 447,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาด โดยมีกำไรสำหรับงวด 21,225 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 45 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจเคมิคอลส์และต้นทุนพลังงานสูงขึ้น ประกอบกับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมในธุรกิจเคมิคอลส์ลดลง
เอสซีจีมีการปรับกลยุทธ์นวัตกรรมสินค้าและบริการ HVA (High Value Added Products & Services) โดยได้ยกระดับเกณฑ์การพิจารณาให้เข้มข้นขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก เน้นการปรับตัวให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างผลกำไรให้สูงขึ้น ภายใต้เกณฑ์ใหม่ เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการ HVA ในช่วง 9 เดือนของปี 2565 อยู่ที่ 152,888 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของยอดขายรวม ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development - NPD) และ Service Solution คิดเป็นร้อยละ 17 และ 6 ของรายได้จากการขายรวม ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ใน 9 เดือน ของปี 2565 ทั้งสิ้น 203,134 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ของยอดขายรวม เท่ากันกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 มีมูลค่า 929,931 ล้านบาท โดยร้อยละ 46 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (นอกเหนือจากประเทศไทย)
ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 และ 9 เดือนของปี 2565 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจเคมิคอลส์ (SCGC) ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 มีรายได้จากการขาย 57,351 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 14 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาขายสินค้าปรับตัวลงจากอุปสงค์ที่ลดลง โดยมีขาดทุนสำหรับงวด 339 ล้านบาท จากส่วนต่างราคาขายสินค้าและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2565 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 193,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 6,953 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 72 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 มีรายได้จากการขาย 51,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลยุทธ์การขายสินค้าส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและในภูมิภาค โดยมีกำไรสำหรับงวด 530 ล้านบาท ทั้งนี้หากไม่รวมรายการด้อยค่าสินทรัพย์และรายการสำคัญ (Key Items) จะมีกำไรจากการดำเนินงานปกติสำหรับงวดอยู่ที่ 851 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 29 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากต้นทุนวัตถุดิบรวมทั้งพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2565 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีรายได้จากการขาย 155,329 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 4,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 57 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้หากไม่รวมรายการด้อยค่าสินทรัพย์และรายการสำคัญ (Key Items) กำไรจากการดำเนินงานปกติสำหรับงวดเท่ากับ 4,827 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
SCGP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 มีรายได้จากการขาย 37,943 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายสินค้าที่สะท้อนต้นทุน การเติบโตของธุรกิจเยื่อและกระดาษ ความต้องการบรรจุภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการควบรวมกิจการ (M&P) บริษัทรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ Peute Recycling B.V. (Peute) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Jordan Trading Inc. (Jordan) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยถูกรวมในงบการเงินรวมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และเดือนกันยายน 2565 ตามลำดับ กำไรสำหรับงวด 1,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายกิจการที่กล่าวข้างต้น ประกอบกับอุปสงค์กลุ่มสินค้าอาหารเครื่องดื่มในอาเซียนเพิ่มขึ้น
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2565 SCGP มีรายได้จากการขาย 112,559 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศฟิลิปปินส์ (UPPC 3) การขยายธุรกิจจากการควบรวมกิจการ (M&P) ในบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป (Duy Tan) ประเทศเวียดนาม ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษ (Intan Group) ประเทศอินโดนีเซีย ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Deltalab, S.L.) ประเทศสเปน และธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ (Peute) รวมถึงราคาขายสินค้าที่สะท้อนต้นทุน และมีกำไรสำหรับงวดเท่ากับ 5,351 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มขึ้น
นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า "วิกฤตครั้งนี้มีความท้าทายสูง แต่ผมเชื่อมั่นว่า เอสซีจีจะผ่านสถานการณ์นี้และกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิมเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา จากการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจอย่างทันท่วงที ลดต้นทุน ชะลอโครงการลงทุนที่ไม่เร่งด่วน ปรับแผนการผลิตให้เหมาะกับความต้องการตลาด ขณะเดียวกันลงทุนเพิ่มในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง (New S-Curve)
ส่วนธุรกิจที่ SCGP เข้าไปลงทุน ยังเติบโตต่อเนื่องด้วยดี
สถานะทางการเงินและกระแสเงินสดของเอสซีจียังแข็งแกร่ง ภาระการลงทุนน้อยลง เนื่องจากโครงการ LSP เสร็จสิ้น
ไปแล้ว 97% ด้วยการสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่พนักงาน คู่ค้า คู่ธุรกิจ และลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับความร่วมมือฝ่าวิกฤตครั้งนี้เป็นอย่างดี"