- ข้อมูลจากรายงาน EY Global Integrity Report ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยกดดันการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่
- 62% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าการรักษามาตรฐานความซื่อสัตย์ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเป็นเรื่องที่ท้าท้ายสำหรับองค์กร
- สภาวะตลาดถดถอย (36%) และผลการดำเนินงานทางการเงินที่ลดลง (31%) เป็นปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมขององค์กรในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
ข้อมูลจากรายงาน 2022 EY Global Integrity Report - Emerging Markets Perspective: "Is your organization upholding its integrity standards?" ชี้ให้เห็นว่ามาตรฐานความซื่อสัตย์ขององค์กรในกลุ่มประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มของตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย อยู่ในจุดเสี่ยง อันเป็นผลมาจากปัจจัยกดดันใหม่ ๆ ทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
รายงานดังกล่าวได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน ผู้จัดการ และคณะกรรมการบริษัทกว่า 2,750 คนจาก 33 ประเทศในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทย พบว่าสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจในปัจจุบันซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นภัยคุกคามต่อจริยธรรมทางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 62% กล่าวว่า การจะรักษามาตรฐานความซื่อสัตย์ในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือในช่วงที่ตลาดเผชิญกับสภาวะยากลำบากเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับองค์กร และเกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (46%) ให้ความเห็นว่าผลกระทบจากการแพร่ของโรคระบาดทำให้การดำเนินธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาเป็นไปได้ยาก โดยปัจจัยความเสี่ยงที่ส่งผลต่อการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมของบุคลากรในองค์กรมากที่สุด ได้แก่ สภาวะตลาดถดถอย (36%) ผลการดำเนินงานทางการเงินที่ลดลง (31%) และการลดลงของค่าตอบแทนพนักงาน (29%)
วิไลพร อิทธิวิรุฬห์ หุ้นส่วนสายงานบริการตรวจสอบและให้คำปรึกษาด้านการต่อต้านทุจริตในองค์กร อีวาย ประเทศไทย เปิดเผยว่า
"องค์กรต่าง ๆ กำลังเผชิญกับความท้าทายมากมายที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการประพฤติผิดจรรยาบรรณ ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain disruption) และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งต่างอยู่ระหว่างการหาทางฟื้นตัวจากผลกระทบจากการแพร่ของโรคระบาดทั่วโลกเช่นกัน"
ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นของพนักงานที่เต็มใจจะประนีประนอมในเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน โดย 52% ของคณะกรรมการบริษัท และ 47% ของผู้จัดการอาวุโส ยอมรับว่าในองค์กรของตนมีพนักงานในระดับผู้บริหารที่ยอมสละความซื่อสัตย์เพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางการเงินเพียงระยะสั้น ๆ
"สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือพนักงานเป็นผู้กระทำการทุจริต ไม่ใช่ระบบหรือกระบวนการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม พนักงานมีแนวโน้มที่จะประพฤติตนด้วยความซื่อสัตย์มากขึ้นหากเข้าใจเหตุผลและวิถีในการดำเนินธุรกิจ แทนที่จะให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องกำหนดจุดยืนที่ชัดเจนในการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพนักงาน มิเช่นนั้นแล้ว เราอาจจะเห็นจำนวนของรายงานการทุจริตและการแทรกแซงจากหน่วยงานกำกับที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง" วิไลพรอธิบาย
ท่ามกลางปัจจัยกดดันต่อการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมในปัจจุบัน ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาในทางบวก โดย 97% ของผู้ตอบแบบสอบถาม (ประเทศไทย 99%) ยอมรับว่า ความซื่อสัตย์ขององค์กรเป็นสิ่งสำคัญต่อความยั่งยืนของธุรกิจ และ 47% (ประเทศไทย 66%) เชื่อว่า องค์กรของตนมีการปรับปรุงมาตรฐานความซื่อสัตย์ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผลสำรวจในประเทศไทยยังแสดงให้เห็นว่า 87% ของผู้ตอบแบบสอบถามสามารถรายงานการกระทำผิดในองค์กรโดยปราศจากความกังวลหรือผลกระทบด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้น และ 61% ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการไม่รายงานการกระทำผิด
"ธุรกิจจำนวนมากเริ่มให้ความสำคัญและสร้างรากฐานความซื่อสัตย์ในองค์กรผ่านการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับ และสื่อสารกับพนักงานให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ การสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุนการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมและให้รางวัลแก่ผู้ที่ปฏิบัติตามนโยบายสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจของพนักงาน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียต่อความสามารถขององค์กรในการสร้างมูลค่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว" วิไลพรกล่าวปิดท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ey.com/emergingmarketsreport2022