"เอ็นไอเอ" ทุ่มกว่า 200 ล้าน หนุนสตาร์ทอัพ 6 สาขานวัตกรรมกลุ่มอุตฯเอสเคิร์ฟ วางเป้าเกิดการลงทุนเพิ่ม พร้อมขับเคลื่อนไทยสู่หมุดหมาย "ประเทศแห่งนวัตกรรม"

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 1, 2022 17:14 —ThaiPR.net

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมไทยผ่านโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท โดยมุ่งสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมใน 6 สาขา ได้แก่ 1) อาหารมูลค่าสูงสำหรับส่งออก 2) ความมั่นคงทางอาหาร 3) เศรษฐกิจการหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ 4) พลังงานสะอาด 5) ธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ ARI Tech และ 6) กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าจะมีผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือบริการที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ไม่น้อยกว่า 40 โครงการ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท และสามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือภาคการลงทุนไม่น้อยกว่า 40 ธุรกิจ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่หมุดหมายสำคัญของการเป็น "ประเทศแห่งนวัตกรรม"

นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กล่าวว่า NIA มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการไทยที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเองและมีขีดความสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อชักจูงบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกให้มาลงทุนในประเทศไทยซึ่งถือเป็นทั้งการสร้างภาพลักษณ์ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดียิ่งขึ้น NIA จึงได้สร้างโอกาสการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งด้านเทคโนโลยี และการเงินผ่านกลไกการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation) ซึ่งดำเนินมากว่า 5 ปี เกิดเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายมากกว่า 92 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ การดูแลสุขภาพ เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร ฯลฯ ด้วยเงินสนับสนุนกว่า 255 ล้านบาท และก่อให้เกิดมูลค่าประมาณ 530 ล้านบาท

สำหรับในปีนี้ NIA มุ่งเน้นโครงการนวัตกรรมมุ่งเป้าใน 6 ธุรกิจนวัตกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อาหารมูลค่าสูงสำหรับส่งออก เพื่อเร่งพัฒนาการผลิตและการส่งออกอาหารและผลไม้ไทยคุณค่าและมูลค่าสูง และผลักดันไทยสู่ผู้นำของโลกทั้งอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารพรีเมี่ยม โปรตีนทางเลือก และอาหารพื้นถิ่นมูลค่าใหม่ เช่น อาหารว่างสำหรับผู้ป่วยโรคไต ไอศกรีมผงกึ่งสำเร็จรูป เนื้ออกไก่จากพืช สเปรดไข่เค็มไชยาพร้อมทาน ฯลฯ ความมั่นคงทางอาหาร ทั้งด้านการเกษตรที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การตรวจสอบย้อนกลับ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการผลิตอาหารอัจฉริยะ เป็นต้น เศรษฐกิจการหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนำขยะหรือของเสียจากภาคอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น ผ่านโมเดลอุตสาหกรรมและธุรกิจที่มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และโมเดลการจัดการพลาสติกและขยะ พลังงานสะอาด ที่พัฒนาและประยุกต์ใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทั้งการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวภาพ และระบบบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ ARI Tech เพื่อนำไปใช้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม การแพย์ ธุรกิจที่สอดรับกับการเชื่อมโยงโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (IoT) และรับกระแสโลกเสมือนจริงหรือ เมตาเวิร์ส และกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานและส่วนประกอบสำคัญ การบริการและแพลตฟอร์มสนับสนุน ตลอดจนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งเชิงพาณิชย์ ธุรกิจนวัตกรรมผลิตยานยนต์ที่มีการสื่อสารและเชื่อมโยงถึงกัน ซอฟต์แวร์เพื่อใช้กับยานยนต์ไฟฟ้า การให้บริการสถานีชาร์จ การบริหารจัดการการจ่ายกระแสไฟฟ้าของแบตเตอรี่ ฯลฯ

"ทั้ง 6 ธุรกิจนวัตกรรมมุ่งเป้าที่ NIA พยายามผลักดันเป็นเทรนด์ที่อยู่ในความนิยมของตลาดโลก อย่างธุรกิจอาหารมูลค่าสูงสำหรับส่งออกและธุรกิจด้านความมั่นคงทางอาหาร ถ้าสตาร์ทอัพสามารถพัฒนาหรือคิดค้นสินค้าใหม่ที่ส่งออกได้สำเร็จ มูลค่าการส่งออกจะสูงขึ้น ส่วนธุรกิจด้านเศรษฐกิจการหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ NIA คาดหวังที่จะได้เห็นการสร้างรูปแบบของตัวธุรกิจที่ชัดเจน เพราะนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่งจะมาขอซื้อคาร์บอนจากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก ปัจจุบันไทยยังขายไม่ได้ เพราะรูปแบบธุรกิจของเรายังไม่สมบูรณ์ เทรนด์ที่เกิดขึ้นถือเป็นโอกาสถ้าทำได้สำเร็จเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติหรือองค์กรใหญ่ ๆ จะเข้ามาจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีธุรกิจด้านกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง ที่แม้ตลาดต่างประเทศจะใหญ่กว่าไทย แต่อีก 3 ปีข้างหน้า โรงงานผลิต EV จะเกิดขึ้นในเมืองไทย ถ้าเราสามารถเตรียมความพร้อมเปลี่ยนจากผู้ผลิตเซ็นเซอร์หรือชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับรถสันดาปมาเป็น EV เพื่อรองรับต่างชาติที่จะมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตในไทยได้ก็จะเป็น OEM ที่มีมูลค่าสูง ดังนั้นถ้าทุกภาคส่วนช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมแบบมุ่งเป้าได้สำเร็จ เชื่อว่าประเทศไทยจะมีโอกาสในเศรษฐกิจเดิมที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น ส่วนเศรษฐกิจที่เป็นเทรนด์ก็จะมีตัวอย่างที่สามารถได้รับประโยชน์จากคุณค่าที่สร้างขึ้นได้ โอกาสที่ไทยจะเติบโตในต่างประเทศก็จะสูงตามไปด้วย"

นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้าที่ NIA ดำเนินการนั้น เป็นการสนับสนุนเงินทุนให้เปล่าสำหรับสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมใน 6 กลุ่มธุรกิจนวัตกรรมเป้าหมายในวงเงินสูงสุดไม่เกินโครงการละ 5,000,000 บาท ครอบคลุมทั้งการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมและทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของนวัตกรรมในสภาพแวดล้อมจริง โดยต้นแบบดังกล่าวต้องมีความเป็นนวัตกรรมระดับประเทศขึ้นไปในด้านผลิตภัณฑ์ การบริการ หรือกระบวนการ และสามารถสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนดได้ โดยผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพที่จะสมัครเข้าร่วมจะต้องมีคุณสมบัติคือ เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและมีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทยอย่างน้อยร้อยละ 51 ต้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในเทคโนโลยีหลักที่ใช้ในโครงการ หรือเป็นการขอใช้สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาได้ ต้องมีโมเดลธุรกิจและแผนการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน เพื่อรองรับการขยายผลโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสำรองเงินเพื่อเบิกจ่ายเงินอุดหนุนย้อนหลังได้ รวมถึงนิติบุคคล หรือกรรมการบริหารของนิติบุคคล มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 3 ปี นอกจากนี้ ยังมีกลไกสนับสนุนอื่น ๆ เช่น การเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาธุรกิจเพื่อให้องค์ความรู้สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ - บริการเพื่อออกสู่ตลาด การจับคู่กับนักลงทุนสำหรับนวัตกรรมที่เป็นต้องการในสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการช่วยสนับสนุนด้านแผนธุรกิจ การให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยสามารถลงทะเบียนออนไลน์ผ่าน https://mis.nia.or.th/ ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565

"การสนับสนุนนวัตกรรมแบบมุ่งเป้าถือเป็นการเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงของประเทศ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคการลงทุน และหน่วยงานด้านการส่งเสริมนวัตกรรมของภาครัฐได้เห็นมุมมองใหม่ที่เป็นประโยชน์จากแผนธุรกิจและความแตกต่างในเชิงเทคนิค ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการตอกย้ำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูและเดินหน้าเศรษฐกิจหลังจากนี้ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานวิจัย และกำลังคนที่มีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก ซึ่งจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยสู่หมุดหมาย "ประเทศแห่งนวัตกรรม" ต่อไป" นายวิเชียร กล่าวสรุป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ