บริษัท ซีนเนอร์ยี่ อินโนเวชั่น จำกัด (SYNHUB) จับมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ริเริ่มโครงการพัฒนารูปแบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ จัดประกวดผลงานนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แนวคิด "HEALTHTECH X สุขล้ำ ไม่เหลื่อมล้ำ" อีกเวทีพัฒนา นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับกลุ่มเปราะบาง และเพื่อกระตุ้นให้คนไทยตื่นตัว หันมาสนใจเป็นนวัตกรเตรียมพร้อมสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ ต่อยอดและโชว์ศักยภาพนวัตกรรมไทยออกสู่ตลาดโลก
HEALTHTECH X สุขล้ำ ไม่เหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคล ชุมชน ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป พัฒนานวัตกรรมสุขภาพเพื่อกลุ่มคนเปราะบาง โดยมีเป้าหมายสนับสนุนทุน 25 โครงการ โครงการละไม่เกิน 500,000 บาท ระยะเวลาดำเนินงานถึง สิงหาคม 2566 ซึ่งหลังเปิดตัวมีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมมากถึง 105 ทีม ซึ่งได้คัดเลือกไอเดียให้เหลือนวัตกร X-Innovator ที่มีคุณสมบัติและความพร้อม 25 ทีม ผ่านการคัดเลือกภายใต้หลักเกณฑ์ 4 ขั้นตอนแบบเจาะลึก 1. เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพสำหรับกลุ่มเปราะบาง 2. การจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ 3. ความคิดสร้างสรรค์ ใช้งานได้จริง 4. สื่อสารสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ
นิติ เมฆหมอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SYNHUB และนายกสมาคมไทยไอโอที กล่าวว่า SYNHUB Digi-Tech Community ศูนย์บ่มเพาะและพัฒนา นวัตกรและสตาร์ทอัพ มุ่งเน้นนำดิจิทัลเทคโนโลยีสร้างสรรค์ผลงาน โดยทีมผู้เชี่ยวชาญในการสร้างประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจเชิงปฏิบัติ ในการพัฒนานวัตกรสู่ความเป็นสตาร์ทอัพมืออาชีพในครั้งนี้
SYNHUB เป็นหน่วยร่วม สสส. เพื่อปั้นและบ่มเพาะ X-Innovator ทั้ง 25 ทีม มุ่งสร้างศักยภาพทีมและช่วยพัฒนาผลงานดิจิทัลเทคโนโลยี ให้ตอบโจทย์การสร้างเสริมสุขภาวะในกลุ่มเปราะบาง และโค้ชการพัฒนางานในทุกมิติ ทั้งด้านธุรกิจ การตลาด การเงิน และการต่อยอดผลงานสู่นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพในรูปแบบธุรกิจสตาร์ทอัพมืออาชีพ พร้อมออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ และการร่วมทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ"
"โดย SYNHUB ได้บ่มเพาะทีมทั้ง 25 ทีม มีผู้เชี่ยวชาญมาเป็นโค้ช ผู้ช่วยโค้ช มากกว่า 30 ท่าน ที่ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคโนโลยี ด้านธุรกิจ การตลาด หรือแบรนด์ดิ้ง มาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับความต้องการในแต่ละกลุ่ม ฉะนั้นผมคิดว่าเวลาจากนี้ไปเราจะมีกิจกรรมมากมายเพื่อร่วมกันพัฒนา X-Innovator ทั้ง 25 ทีม "
และหนึ่งใน นวัตกร X-Innovator ที่อายุน้อยที่สุด ได้แก่ น้องๆ จากทีม Golden Ticket 5คนรุ่นใหม่ จากโรงเรียนเซนต์ปอลคอนแวนต์ ศรีราชา เจ้าของผลงานแว่นที่สามารถสแกนสิ่งกีดขวาง เผยว่าแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงานเกิดจากการได้เห็นแว่นตาส่งเสียงเพื่อผู้พิการทางสายตาของ VISIONEAR แต่มองว่าน่าจะต่อยอดและพัฒนาจุดบกพร่อง โดยการเพิ่มการแยกแยะสิ่งของได้มากขึ้น และสามารถทราบระยะห่างของสิ่งของได้ โดยนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในการจดจำ
"เหตุผลที่มาร่วมโครงการนี้ เพราะเราเห็นจากข่าวบ่อยๆ เรื่องที่เจอทุกวัน มองว่าถ้าเป็นคนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาในสังคมได้ก็น่าจะดี ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะได้เข้ารอบ แต่ตั้งใจมาหาประสบการณ์เท่านั้น เมื่อได้เข้ารอบมาเป็น 1 ใน 25 X-Innovator ก็รู้สึกตื่นเต้นมากๆ"